โลกาภิวัตน์
:
ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม และธรรมาภิบาล
กับการบริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพ
นายเชี่ยวชาญ ภาระวงค์
******************************************************************************
กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) และความก้าวหน้าของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
(Information Technology : IT) ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ขึ้นในโลกมากมาย
ทั้งในเชิงที่ได้ผลประโยชน์ ที่เป็นโอกาสในการเรียนรู้วิทยาการและระบบบริหารจัดการที่ก้าวหน้า
และในเชิงที่เสียผลประโยชน์ ผู้มีข้อมูลมากกว่า ความรู้มากกว่า สามารถสร้างกฎ ระเบียบโลก
(New World Order) ระบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) และใช้ความก้าวหน้าของ IT ออกมาหาประโยชน์จากประเทศที่ล้าหลังกว่า
หรือปรับตัวไม่ทัน รวมทั้งประเทศไทยด้วย ดังเช่นที่สังคมไทยสามารถติดต่อค้าขายกับต่างประเทศสะดวกรวดเร็วขึ้นจากระบบพาณิชย์อิเล็คทรอนิคส์
(E- Commerce) รับรู้ข่าวสารที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่งไปได้พร้อม
ๆ กับประชาชนเจ้าของประเทศนั้น ๆ สามารถเรียนรู้องค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยหรือแหล่งความรู้รูปแบบอื่น
ๆ ในต่างแดน ฯลฯ ในขณะเดียวกัน สังคมไทยก็ต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ จากการรู้ไม่เท่าทัน
เปิดเสรีทางการเงิน โดยที่ยังมิได้เตรียมการด้านระเบียบและโครงสร้างทางการเงินระหว่างประเทศและตลาดทุน
ไว้รองรับความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากความก้าวหน้าและความเปลี่ยนแปลงของโลกเหล่านั้น
อันนำมาซึ่งปัญหาสังคมต่าง ๆ ตามมามากมาย ทั้งทางตรง คือ การไหลเข้ามาของ วัฒนธรรมอันไม่พึงประสงค์จากต่างประเทศ
ผ่านระบบเครือข่ายข้อมูลระหว่างประเทศ (Internet) และแม้แต่ระบบสื่อสารมวลชนปกติ
เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ เป็นต้น และทางอ้อม ที่ต้องมีคนตกงาน
เป็นโรคเครียดและป่วยทางจิต ปัญหายาเสพติด ฯลฯ ผลความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร
ทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ
จุดหนึ่งจุดใดจะส่งผลกระทบแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นได้อย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะความเสื่อมโทรมด้านจริยธรรมของสังคมที่มาจากสาเหตุของการยึดวัตถุมากกว่าความดี
การแข่งขันเพื่อเอาชนะแทนการร่วมมือ การมองคนอื่นเป็นคู่แข่งมากกว่าเป็นพันธมิตร
การศึกษาน่าจะให้ทางออกที่ดีต่อปัญหาดังกล่าว
และผู้นำสถานศึกษาน่าจะเป็นความหวังของการเป็นแบบอย่างที่ดีด้านจริยธรรมต่อครู
นักเรียน และบุคคลอื่นในสังคม
อาจารย์ใหญ่เผชิญกับปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้านจริยธรรมอยู่ทุกวัน
กรีนฟิลด์ (Greenfield, 1991) กล่าวว่า
อาจารย์ใหญ่ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบต่อปัญหาด้านคุณธรรมของสังคมของนักเรียน
และต่อวิชาชีพครู
โดยปัญหาที่เกิดขึ้นบางครั้งแม้ยากที่จะชี้ชัดได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด
อะไรควรและอะไรที่ไม่ควรประพฤติปฏิบัติในแง่ของศีลธรรมก็ตาม
กรีนฟีลด์ (Greenfield)
ระบุว่าสังคมมีความคาดหวังด้านจริยธรรมจากครูใหญ่ เช่น
1. โรงเรียนต้องเป็นสถาบันแห่งศีลธรรม
(moral institute)
ที่ช่วยกำหนดปทัสถานของสังคม (social norm)
2. อาจารย์ใหญ่ต้องเป็นต้นแบบ
ด้านศีลธรรม (moral
agent) การตัดสินใจเรื่องใด ๆ ของอาจารย์ใหญ่ต้องอยู่บนเหตุผลค่านิยมทางศีลธรรม
(moral value) เป็นหลักมากกว่าหลักการอื่นใด
3. การบริหารโรงเรียนจะต้องยึดหลักการทุ่มเทเพื่อให้เกิดบรรยากาศให้นักเรียนได้เจริญงอกงาม
ได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข (ดี เก่งและมีความสุข)
จากเหตุผลดังกล่าว
ความประพฤติของครูใหญ่ จึงต้องแสดงออกถึงการเป็นผู้มีศีลธรรม ดังที่ ศ.ดร.สาโรช บัวศรี เคยกล่าวไว้ว่า “บัณฑิตต้องมีความรู้ดุจนักปราชญ์ และต้องประพฤติตนดุจ ผู้ทรงศีล”
การแสดงออกเชิงศีลธรรมของผู้นำนอกจากสามารถมองเห็นได้จากการประพฤติปฏิบัติปกติประจำวันแล้ว
ผู้นำยังต้องทำให้นโยบายต่าง ๆ
และโครงสร้างของโรงเรียนแฝงด้วยค่านิยมเชิงจริยธรรมทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น
สังคมปัจจุบันคนส่วนใหญ่ต้องการเป็นผู้ชนะบนความพ่ายแพ้ของคนอื่น
จึงเกิดการเอารัดเอาเปรียบและใช้กลยุทธ์สกปรกไร้จริยธรรมเพียงเพื่อชัยชนะของตน
ดังนั้นครูใหญ่จึงต้องทำให้นโยบายและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ
ของครูและนักเรียนมุ่งเน้น คุณธรรม
จริยธรรมเรื่องความยุติธรรม การไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น
เน้นความร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน ยึดความสำคัญของการทำงานแบบทีมมากกว่าทำรายบุคคล
ใช้กลยุทธ์การแก้ปัญหาความขัดแย้งแบบชนะ/ชนะมากกว่าชนะ/แพ้ รวมทั้งการสร้างค่านิยมให้เกิดการเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น
เป็นต้น โดยสรุปจะเห็นว่าครูใหญ่จึงไม่เพียงเป็นผู้นำการประพฤติปฏิบัติทางจริยธรรม
เฉพาะตนเท่านั้น แต่มีหน้าที่สำคัญยิ่งคือ “การสร้างโรงเรียนให้เป็นสถาบันแห่ง
คุณธรรม จริยธรรม (ethical institution)” อีกด้วย
ในฐานะเป็นผู้นำ
ครูใหญ่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการใช้อำนาจหน้าที่ของตนอย่างมีจริยธรรม
การแสดงทัศนะก็ดีหรือการตัดสินใจต่าง ๆ ของครูใหญ่ก็ดี
จะต้องทำให้ทุกคนเห็นว่าตั้งอยู่บนพื้นฐานของความมีเหตุผลของจริยธรรม
สิ่งที่ผู้นำคิด พูดและทำล้วนต้องสอดคล้องกัน ทุกคนจึงเต็มใจที่จะปฏิบัติตาม
การใช้อำนาจการทำโทษ (coercive power) พึงหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดและเป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อหมดวิธีอื่นแล้ว
เพราะมีผลเสียมากกว่าและไม่นำไปสู่การสร้างวินัยตนเองหรือการเคารพตนเองของผู้นั้นแต่อย่างใด
ครูใหญ่กับปัญหาทางเลือกสองแพร่งทางจริยธรรม
(What ethical dilemmas do principal face?)
ในการเป็นผู้นำที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรม
ครูใหญ่จึงมักพบกับความอึดอัดใจที่จะต้องตัดสินใจทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งที่เห็นว่าดีกว่าอีกทางเลือกหนึ่งในเกณฑ์เชิงจริยธรรม
ทั้งนี้เพราะบางครั้งประเด็นเชิงจริยธรรมไม่ใช่การเลือกระหว่างผิดหรือถูก
แต่เป็นเรื่องของอย่างไหนที่เหมาะสมกว่ากัน ตัวอย่างเช่น
การใช้งบประมาณที่มีจำกัดของโรงเรียนระหว่างโครงการส่งเสริมนักเรียนปัญญาเลิศกับโครงการสอนเสริมเพื่อลดการตกซ้ำชั้น
ของนักเรียน หรือกรณีที่ ครูใหญ่เน้นนโยบายการให้ความอิสระแก่ครู (Teacher
autonomy) แต่ขณะที่เน้นเรื่องผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน (student
achievement) เป็นเรื่องสำคัญด้วย ปรากฏว่า คณะครูได้ใช้อำนาจที่ได้รับไปจัดทำเกณฑ์มาตรฐานทางวิชาการของนักเรียนต่ำลงเพื่อทำตัวเลขของจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นต้น
หรือครูใหญ่ควรปกป้องครูที่ทำงานสอนดี แต่ล่วงละเมิดทางเพศต่อนักเรียนหรือไม่ ครูใหญ่ควรปฏิบัติอย่างไร
ถ้าผู้บังคับบัญชาของตนขอให้ช่วยสนับสนุนให้บริษัทที่ต้องการชนะการส่งนมพร้อมดื่มให้นักเรียนทั้งที่รู้ว่าต่ำกว่ามาตรฐาน
การแก้ปัญหาทางสองแพร่งทางจริยธรรม
(How can leaders resolve ethical dilemmas)
ผู้รู้เชื่อว่า
ไม่มีสูตรสำเร็จใดที่ผู้นำสามารถใช้เพื่อแก้ปัญหาทางเลือกทางจริยธรรม
แต่มีแนวทางดำเนินการกว้าง ๆ เช่น
1. ตัวผู้นำเองจะต้องมีมาตรฐานด้านจริยธรรม
(ethical standards) และต้องประพฤติปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับมาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ
เช่นแสดงออกทางพฤติกรรมของผู้ที่เมตตาเอื้ออาทรต่อศิษย์ เพื่อนครูและคนทั่วไป
การแสดงออกในความเป็นผู้รักความเป็นธรรมและความยุติธรรม
การมีพฤติกรรมของผู้ที่มีความซื่อสัตย์ทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น การให้การเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น
เป็นต้น
2. เมื่อจำเป็นต้องหาทางออกต่อปัญหาเชิงจริยธรรม
มีหลักที่ผู้นำควรพิจารณาดังนี้ (1) ดูผลที่เกิดขึ้นตามมาถ้าตัดสินใจเลือกวิธีนั้น
และให้พยายามวิเคราะห์ว่า ใครบ้างที่จะถูกผลกระทบและผลที่เกิดกับคนเหล่านี้เป็นอย่างไร
(2) ตัดสินใจเลือกทางเลือกโดยอิงหลักเกณฑ์ทางศีลธรรม (moral
rules) เช่นเชื่อว่าถ้าทำเช่นนั้นแล้วโลกของเราจะน่าอยู่ยิ่งขึ้นเพราะทุกคนอยู่ในหลักศีลธรรม
(3) พยายามยึดแนวทางเอื้ออาทร (caring) เอาใจเขามาใส่ใจเราเช่นพยายามคิดว่า ถ้าคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นเป็นตัวเรา
เราอยากให้คนอื่นปฏิบัติกับเราอย่างไร เป็นต้น
3. ปัญหาทางจริยธรรม
น่าจะมีตัวเลือกที่เป็นทางออกได้มากกว่าสองทาง (dilemmas) คือ
ไม่ถูกก็ต้องผิด แต่ควรมีทางเลือกที่สาม (tri lemmas) ซึ่งเป็นทางออกที่ดีกว่า
เช่นแทนที่โรงเรียนจะกำหนดให้นักเรียนทุกคนต้องเข้าร่วมกิจกรรมทางพุทธศาสนา
ก็ควรมีกิจกรรมทางเลือกที่สอดคล้องการนับถือศาสนาอื่นของนักเรียนบางคนด้วย เช่นกัน
4. ท้ายสุด ผู้นำเอง
ต้องทำตัวเหมือนปรอทรับรู้และตระหนักถึงปัญหาทางจริยธรรมที่เกิดได้ดีโดยเฉพาะในชุมชน
ซึ่งตนมีบทบาทเป็นผู้นำ
บทบาทของครูใหญ่ในการสร้างจริยธรรมของโรงเรียน
โดยปกติโรงเรียนมักละเลยในการกระตุ้นให้มีการถกประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับ
จริยธรรมโดยอ้างว่าทุกคนต้องรับภาระงานประจำหนักอยู่แล้วทั้งการหาเวลาว่างตรงกันยิ่งเป็นเรื่องยาก
วิธีหนึ่งที่เสนอแนะในการสร้างความตระหนักทางจริยธรรมให้เกิดขึ้นในโรงเรียนได้แก่
การจัดตั้งคณะกรรมการทางจริยธรรม (ethical
committee) ดังเช่นที่พบในโรงพยาบาลจะมีคณะกรรมการจรรยาบรรณ เป็นต้น
คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ไม่เพียงกำหนดกฎระเบียบทางการ
แต่ยังมีหน้าที่สร้างจิตสำนึกต่อประเด็นทางจริยธรรม ช่วยดูแลให้ครูอาจารย์ผู้บริหารปฏิบัติตามแนวทางแห่งจรรยาบรรณของวิชาชีพ
ให้คำแนะนำต่อผู้บริหารในการแก้ไขประเด็นปัญหาทางจริยธรรมที่เกิดขึ้นในโรงเรียน
เป็นต้น
โทมัส เซอจิโอวันนี (Thomas
Sergiovanni, 1992). กล่าวว่า
โรงเรียนที่มีประสิทธิผลจะต้องมีข้อกำหนดที่เป็นพันธสัญญาร่วมกันของทุกคน โดยพันธสัญญาดังกล่าวเป็นแกนของค่านิยมสำคัญของโรงเรียน
และสามารถใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานอ้างอิงในการตัดสินว่า
พฤติกรรมหรือการกระทำใดของสมาชิกผิดถูกเหมาะสมหรือไม่ในเชิงจริยธรรม
ผู้นำต้องมีบทบาทสำคัญยิ่งไม่เพียงแค่จัดทำข้อพันธสัญญาของโรงเรียน
แต่ต้องให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน และให้มีผลนำไปใช้ปฏิบัติอย่างจริงจัง
และเมื่อมีผู้ฝ่าฝืนต่อพันธสัญญาดังกล่าวผู้นำต้องกล้าตัดสินใจใช้มาตรการเฉียบขาดต่อผู้นั้น
นักการศึกษาทั้งหลายต่างเห็นพ้องกันว่า
ภาวะผู้นำเชิงคุณธรรมต้องเริ่มจากตัวผู้นำที่มีคุณธรรม (moral leadership
begins with moral leaders) ผู้นำที่มีประสิทธิผลต้องไม่เพียงแค่มีความรอบรู้ด้านคุณธรรมเท่านั้นไม่เพียงแต่สอนคนอื่นด้วยคำพูด
แต่สำคัญสุดก็คือ การประพฤตปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างที่ดีของผู้มีคุณธรรมแก่คนทั่วไป
จริยธรรมของภาวะผู้นำแบบเปลี่ยนสภาพ (The ethics of Transformational
leadership)
ทฤษฎีภาวะผู้นำแบบเปลี่ยนสภาพ
มีลักษณะโดดเด่นที่ต่างไปจากทฤษฎีภาวะผู้นำอื่นที่มักเน้นการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้นำกับผู้ตาม
แต่ทฤษฎีนี้มุ่งเน้นการยกระดับคุณธรรม และจริยธรรมของผู้ตามให้สูงขึ้น
จึงเป็นภาวะผู้นำเชิงคุณธรรม (Ethical leadership) ด้วยดังนี้
ผู้นำแบบเปลี่ยนสภาพ (transformational
leaders) มุ่งเปลี่ยนแปลงผู้ตามในประเด็น
1. สร้างความตระหนักถึงการต้องมีมาตรฐานด้านคุณธรรม
(moral standards)
แก่ผู้ตาม
2. ชี้ประเด็นที่ต้องมุ่งเน้นทางจริยธรรมตามลำดับความสำคัญก่อนหลัง
3. พยายามยกระดับความต้องการของผู้ตาม
(follower needs) ให้สูงขึ้นถึงระดับต้องการมุ่งผลสำเร็จ (need for achievement)
4. ส่งเสริมให้ระดับวุฒิภาวะด้านคุณธรรม
(moral maturity) ของผู้ตามสูงขึ้น
5. เสริมสร้างบรรยากาศของที่ทำงานหรือองค์การให้มีบรรยากาศของคุณธรรม
(ethical climate)
เช่น การยึดค่านิยมและการมีมาตรฐานด้านคุณธรรมร่วมกันเป็นต้น
6. ปลุกเร้าและส่งเสริมให้ผู้ตามเห็นว่า
การทำงานที่ยึดหลักผลประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตนนั้น
เป็นสิ่งดีงามที่ควรยึดถือร่วมกัน
7. ส่งเสริมให้ผู้ตามยึดหลักของความร่วมมือ
(cooperation) มากกว่าการแข่งขันกัน (competitiveness) และยึดหลักสามัคคีธรรม
(harmony)
ธรรมาภิบาล (Good Governance)
หลักการของธรรมาภิบาล
หรือ
Good Governance ตามที่ UN ESCAP กำหนดไว้มี
8 หลักการ คือ การมีส่วนร่วม การปฏิบัติตามกฎหมาย ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ ความสอดคล้อง ความเสมอภาค
การมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และการมีเหตุผล
การมีส่วนร่วม (Participatory)
การมีส่วนร่วมของสมาชิกทั้งชายหญิงคือการตัดสินใจที่สำคัญในสังคมและสร้างความสามัคคีให้เกิดกับประชาชน
การมีส่วนร่วมสามารถทำได้โดยอิสระไม่มีการบังคับ
สมาชิกเต็มใจให้ความร่วมมือด้วยตนเอง หรือมีส่วนร่วมผ่านหน่วยงาน
สถาบันหรือผู้แทนตามระบอบประชาธิปไตย
การปฏิบัติตามกฎ (Rule of Law)
ธรรมาภิบาลต้องการความถูกต้องตามกรอบของกฎหมาย
ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ลำเอียง มีการปฏิบัติอย่างเสมอภาค และเป็นธรรมกับประชาชนโดยเท่าเทียมกันทุกคนในสังคมอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายเดียวกัน
ความโปร่งใส (Transparency)
ความโปร่งใสเป็นการตรวจสอบความถูกต้อง
มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาสิ่งนี้ช่วยแก้ปัญหาการทุจริตและคอรัปชั่นได้ทั้งในภาครัฐและเอกชน
สื่อจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการตรวจสอบและรายงานผลงานดำเนินงานโดยการนำเสนอข่าวสารที่ถูกต้องให้แก่สังคมได้รับทราบ
ความรับผิดชอบ (Responsiveness)
ความรับผิดชอบเป็นการพยายามให้คนทุกฝ่ายทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดในการปฎิบัติงาน
กล้าที่จะคิด กล้าที่จะตัดสินใจและรับผิดชอบต่อผลการคิดและการตัดสินใจนั้น ๆ
ความสอดคล้อง (Consensus Oriented)
ความสอดคล้องต้องกันเป็นการกำหนดและสรุปความต้องการของคนในสังคม
ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยพยายามหาจุดสนใจร่วมกันและความต้องการที่สอดคล้องต้องกันของสังคมมาเป็นข้อปฏิบัติเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในสังคม
การจะพัฒนาสังคมได้ ต้องทราบความต้องการที่สอดคล้องต้องกันของสังคมนั้น ๆ ด้วยวิธีการเรียนรู้วัฒนธรรมของสังคมนั้น
ๆ ก่อน
ความเสมอภาค (Equity and
Inclusiveness)
ความเสมอภาคเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนพึงได้รับจากรัฐบาล
ทั้งการบริการด้านสวัสดิการตลอดจนสาธารณูปโภคด้านอื่น ๆ
หลักประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Effectiveness
and Efficiency)
เป็นวิธีการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยการผลิตและจำหน่ายเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนหรือการใช้ทรัพยากรให้ได้ประโยชน์สูงที่สุดต่อมวลมนุษยชาติ
โดยมีการพัฒนากระบวนการเพิ่มผลผลิตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
การมีเหตุผล (Accountability)
การมีเหตุผลเป็นความต้องการในทุกสังคม
ประชาชนทุกคน ต้องตัดสินใจและรับผิดชอบต่อการกระทำของตนด้วยผลที่สมเหตุสมผล การมีเหตุผลไม่สามารถกระทำได้ถ้าปราศจากการปฏิบัติตามกฎหมาย
ความโปร่งใส และตรวจสอบได้
พอจะกล่าวสรุปได้ว่า
ธรรมาภิบาล (Good Governance) แม้จะดีเลิศสักเพียงใดก็ตาม แต่ก็ยากที่จะกระทำให้สำเร็จให้ครบทุกหลักการ
ฉะนั้นก่อนที่จะมาให้ความสนใจการพัฒนาด้านการบริหารและการจัดการนั้น ควรให้ความสำคัญกับการศึกษาก่อนเป็นอันดับแรก
เพราะว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ก่อนที่จะนำไปสู่การพัฒนาด้านอื่น ๆ การพัฒนางานใด ๆ ต้องพัฒนาที่อุดมการณ์ของคนให้ไปสู่จุดมุ่งหมายที่แท้จริง
หลักธรรมาภิบาลกับการศึกษา (Good Governance
and Education)
หลักธรรมาภิบาลกับการศึกษา(Good
Governance) การกระจายอำนาจการมีส่วนร่วม ทางการศึกษา นับเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด
ในการปฏิรูปการศึกษาตามเจตนารมณ์แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาฯ พ.ศ.2542 แก้ไขเพื่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545เพราะจะช่วยให้มีคณะบุคคลเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา/หน่วยงานทางการศึกษา และบริหารจัดการโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพ อาทิ การสร้างหลักสูตรอันเหมาะสมของท้องถิ่นที่ทันสมัย
ทันโลก ผสมผสานกับภูมิปัญญาของท้องถิ่น สอคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและชุมชน
(People Needed) ทำให้เกิดการประหยัดการใช้ทรัพยากร ในด้านต่างๆ อาทิ
ทรัพยากรบุคคล งบประมาณ เพราะทุกภาคส่วนร่วมพัฒนาโดยเข้ามามีส่วนร่วม
(Participation) ในความรับผิดชอบ เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ผลจากการเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบ
มีผลทำให้การจัดการศึกษาในท้องถิ่นดีขึ้น สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี
พ.ศ.2542 ไว้ใน ข้อ 4 หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี ที่ระบุไว้ในข้อย่อย
4.2 ว่าในการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี ควรจัดหรือส่งเสริมให้สังคมไทยอยู่บนพื้นฐานของหลักสำคัญอย่างน้อย
6 ประการ คือ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม
หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่าคุ้มทุน โดยเฉพาะหลักการมีส่วนร่วม
เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ และเสนอความเห็นในการตัดสินใจปัญหาสำคัญของประเทศ
ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่ส่วนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติ หรือ
อื่น ๆ และข้อ 6 แนวทางปฏิบัติในข้อย่อย 6.3 เร่งรัดให้เกิดการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงในการบริหารภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูประบบราชการ
และการปฏิรูปการศึกษา
การกระจายอำนาจทางการศึกษา
วิเคราะห์ถึงจุดแข็ง
จุดอ่อน โอกาส และข้อจำกัดหรือภัยคุกคาม (SWOT Analysis) ซึ่งจะวิเคราะห์จุดแข็งและโอกาส
ซึ่งเป็นเชิงบวก และวิเคราะห์จุดอ่อนและข้อจำกัด ซึ่งเป็นเชิงลบ ดังนี้
1. จุดแข็ง (Strength) และโอกาส (Opportunity) ได้แก่ แผนฯ 8 และ 9 ต่างยึดพื้นที่
หน้าที่ และการมีส่วนร่วม (Area-Function-Participation Approach : AFP) มาเป็นหลักในการนำแผนพัฒนาประเทศไปดำเนินการในระดับปฏิบัติ ดังนั้น การกระจายอำนาจทางการศึกษา
โดยยึดที่....
1.1 พื้นที่ จึงมีทั้งในมิติของเขตการศึกษา โรงเรียน
(School Based) และชุมชน (Community Based)
1.2 หน้าที่ ที่จะต้องปรับบทบาทของภาครัฐ จากผู้สั่งการ
(Instructor) มาเป็นผู้ประสานงาน (Coordinator) และเอื้ออำนวยความสะดวก (Facilitator) ให้เกิดกลไกและเครือข่ายความร่วมมือกันในการจัดการศึกษา
1.3 การมีส่วนร่วมเป็นหลัก ในการจัดการศึกษา ดังนั้นจะต้องกระจายหรือมอบอำนาจในการจัดการศึกษา
ไปให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของ
การจัดการศึกษา ตั้งแต่ขั้นของการวางแผน กำหนดหลักสูตร ร่วมกันสร้างโรงเรียนและชุมชนให้กลายเป็นองค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน (Learning
Society) จนถึงขั้นของการติดตามประเมินผลคุณภาพของการจัดการศึกษา บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฯ
พ.ศ. 2540 พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอน การกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.การศึกษาฯ พ.ศ.2542 ล้วนสร้างกลไกในการกระจายอำนาจทางการศึกษา รวมทั้งกลไกการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้อง
ให้เอื้ออำนวยต่อการกระจายอำนาจทางการศึกษาไปให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน
และประชาชนในที่สุด
1.4 ความก้าวหน้าของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากจะช่วยสนับสนุนให้เกิดโอกาสในการเรียนรู้เรื่องการกระจายอำนาจทางการศึกษาร่วมกันในระหว่างชุมชนต่าง
ๆ รวมทั้งกันร่วมมือกันเป็นเครือข่ายแล้ว ยังจะช่วยสร้างกระแสความตื่นตัวในการเข้ามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้แพร่กระจายออกไปอีกด้วย
2. จุดอ่อน (Weakness) และอุปสรรคหรือข้อจำกัด
(Threat) ได้แก่
2.1 งบประมาณสนับสนุนของรัฐมีจำกัด รวมทั้งข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรและงบประมาณในพื้นที่
ตามผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ จะเป็นอุปสรรคต่อการสนับสนุน ทั้งจากภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ธุรกิจเอกชน หรือแม้แต่จากชุมชนเอง
2.2 การขาดความจริงใจและเข้าใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับนโยบายโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองท้องถิ่น
ซึ่งส่วนใหญ่มิใช่นักการศึกษา และในระดับปฏิบัติการ เช่น ครู หรือแม้แต่ประชาชนในชุมชนนั้น
ทำให้ไม่สามารถเข้ามีส่วนร่วมได้ตามบทบาทที่ได้รับอย่างเหมาะสม
2.3 ระบบและโครงสร้างการบริหารจัดการ ยังปรับตัวไม่ทัน
ตั้งแต่ในระดับส่วนกลางที่ยังต้องการปฏิรูประบบต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบราชการ
และความชัดเจนในขอบเขตของการกระจายอำนาจ
2.4 มีกลไกความร่วมมือน้อยในลักษณะของพหุภาคี เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการกระจายอำนาจทางการศึกษา
ให้ตรงกับเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง ในทุกระดับตั้งแต่ในระดับชาติ
ระดับอุดมศึกษาการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่ยังเน้นการท่องจำมาสอบ ทำให้ยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์การปฏิรูปการศึกษา
ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับท้องถิ่น และระดับชุมชน จะต้องผสมผสานความทันสมัยให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่น
การบริหารโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพ
โลกในปัจจุบันมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วส่งผลต่อการพัฒนา
ระบบสื่อสารมวลชน ทำให้กระแสข้อสนเทศแผ่กระจายครอบคลุมพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของโลกอย่างรวดเร็วจนได้ชื่อว่า “โลกไร้พรหมแดน” ผลของการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดกระแสสำคัญๆที่เข้าสู่ความเป็นสากลรวมทั้งการจัดการศึกษา
ขณะเดียวกันก็อาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆหลายประการ เช่น ความสับสนในข้อสนเทศ ข้อจำกัดด้านการใช้เทคโนโลยี
รวมทั้งการรับกระแสวัฒนธรรมโดยขาดการกลั่นกรอง และการยั้งคิดจนกระทั่งวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ดีงาม
เอกลักษณ์ไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เท่าที่ควร ในขณะที่สังคมโลกต้องการด้านคุณภาพและมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ต่างไปจากเดิม
ดังนั้นระบบการศึกษาจึงเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพที่ยั่งยืนและสามารถรักษาเอกลักษณ์ไทยไว้
ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้สอน สาขาวิชาการบริหารการศึกษาได้คำนึงถึงสภาพปัญหาจากบริบทของสังคมที่เกิดขึ้น
จึงได้นำเสนอแนวทางธรรมาภิบาลในการบริหารและจัดการศึกษาโรงเรียนนิติบุคลโดยเฉพาะ
2 ด้านที่เป็นสิ่งสำคัญมากในขณะนี้คือด้านการบริหารบุคคล บุคคลทั่วไป และที่เป็นบุคลากรในโรงเรียนซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด
ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า “บุคลากรในโรงเรียนมีความสำคัญต่อการบริหารฯ”
เพราะบุคลากรฯเป็นผู้รับผิดชอบฯและดำเนินการเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ทั้ง
วัสดุ อุปกรณ์ และการจัดการต่างๆ เพื่อการบริหารจัดการศึกษาในโรงเรียนให้ประสบกับความสำเร็จได้นั้นผู้บริหารฯต้องสร้างภาวะผู้นำและควรยึดหลักวิชาที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาบูรณาการไปสุ่การปฏิบัติที่เน้นการมีส่วนร่วมอย่างมุ่งมั่นและจริงจัง
ดังนี้
1. มีความซื่อสัตย์สุจริต
ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของการบริหาร เพราะจะต้องทำเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อให้เกิดความศรัทธาและเป็นตัวอย่างที่ดีแก่บุคลากร
ผู้ใต้บังคับบัญชา ดังคำกล่าวที่ว่า “แบบอย่างที่ดีย่อมอยู่เหนือคำสอนอื่นใด”
2. มีความยุติธรรม การบริหารงานด้วยความเสมอภาค
เป็นกลาง และยุติธรรมกับทุกคน ซึ่งทำให้ลดความขัดแย้งภายในโรงเรียนได้
3. มีความมุ่งมั่น
ขยัน อดทน และเป็นคนสู้งาน บุคลากรฯ จะเห็นการทำงานและจะนำไปเป็นแบบอย่าง โดยยึดหลักว่า
“สอนให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น” (ท่านได้ทำในสิ่งเหล่านี้หรือยัง)
4. มีความรับผิดชอบสูง
“ ความรับผิดชอบ” เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง
เพราะ ความรับผิดชอบทำให้งานประสบความสำเร็จ แม้ในบางครั้งงานที่สำคัญของโรงเรียนเกิดความผิดพลาด
ในฐานะผู้บริหารฯ จำเป็นต้องยอมรับและรับผิดชอบโดยไม่โยนความผิดไปให้ผู้อื่น
5. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
นำแนวคิดและวิธีการใหม่ๆมาปฏิบัติในโรงเรียนบ้างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงสร้างสรรค์
แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง
6. มีภาวะผู้นำสูง ผู้บริหารต้องเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนเชิงการพัฒนาที่ดีขึ้นใน
4 ด้าน กล่าวคือ ด้านบริหารงานบุคคล ด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ และด้านการบริหารงานทั่วไป
7. กล้าที่จะคิด
กล้าที่จะพูด กล้าที่จะนำ กล้าที่จะทำ กล้าที่จะตัดสินใจ และกล้าที่จะรับผิดชอบ ในฐานะผู้บริหารฯ
8. มีคุณธรรม และจริยธรรม ยึด พรหมวิหาร 4 เป็นธรรมะในการบริหารบุคลากร ได้แก่
- เมตตา ให้ความรัก ความปรารถนาดีแก่ทุกคนด้วยความเสมอภาค
ไม่ลำเอียง
- กรุณา ให้ความช่วยเหลือแก่บุคลากรฯ
ที่มีทุกข์ตามโอกาสและความเหมาะสมอย่างเท่าเทียมกันหรือกรณีมีปัญหาในหน้าที่การงานและปัญหาส่วนตัว
- มุฑิตา ยินดีให้กำลังใจแก่บุคลากรทุกคนเมื่อประสบความสำเร็จในชีวิต
หรือในหน้าที่ การงานตามความเหมาะสม พิจารณาความดีความชอบที่ใช้หลักความดี/
เก่ง ส่งเสริม และสบับสนุนให้ทำผลงานเพื่อการพัฒนาวิชาชีพที่สูงขึ้น
การจัดทำการ์ดอวยพรและของที่ระลึกมอบให้ ในวันคล้ายวันเกิด ฯลฯ
- อุเบกขา ทำงานโดยปราศจากอคติ วางตัวเป็นกลาง
ให้ความยุติธรรมแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ลำเอียง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่แสดงความดีใจจนเกินควร
หรือทับถมผู้อื่นเมื่อประสบเคราะห์กรรม
9. มีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูง
สามารถเก็บความรู้สึกต่างๆ ได้ สุขุม รอบคอบ นุ่มนวล มีความอดทนต่อความรู้สึกที่ไม่ถูกต้อง
หรือการปฎิบัติที่ขัดต่อกฎระเบียบ และวัฒนธรรม
10. เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้
ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุคลากรในโรงเรียนและ ครอบครัว มีนิสัยรักการอ่าน การใช้เวลาว่างในวันหยุด
โดยการวางแผนและบริหารเวลาให้คุ้มค่าที่สุดสำหรับการปฏิบัติงาน และการศึกษาเพื่อการพัฒนาตนเองเสมอ
11. มีความจริงใจ
ยึดอุดมการณ์ในการทำงานให้ความเป็นกันเองแก่ผู้ร่วมงาน ทุกคนด้วยความเสมอภาค ด้านการบริหารงาน การบริหารงานในด้านต่างๆ ของโรงเรียน ได้แก่ ด้านวิชาการ
ด้านงบประมาณ และด้านบริหารงานทั่วไป ควรใช้วิธีการบริหารรูปแบบใหม่ “รูปแบบที่ทุกคนมีส่วนร่วม” ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ
ร่วมทำ และร่วมรับผิดชอบโดยพิจารณาจัดทำภารกิจให้ชัดเจน ครอบคลุมงานทั้งหมดและมีการกำหนดกลุ่มงานที่มีความสอดคล้องกัน
จัดโครงสร้างบริหารที่เป็นนิติบุคคล มีการบริหารเป็นระบบ มีสายบังคับบัญชา และการประสานคน
/งาน เพื่อให้เกิดความคล่องตัว มีการกำหนดขอบเขต อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบ
ในทุกระดับของตำแหน่ง ตามความรู้ความสามารถและประสบการณ์ ทุกขั้นตอน ไว้อย่างชัดเจนและโปร่งใส
ตรวจสอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องฝึกการสร้างจิตสำนึกในเรื่องของความรักและภักดี
ความหวงแหน และความเป็นเจ้าของร่วมกัน (Sense of Belonging)
ดั่งกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ ข้าราชการทุกหมู่เหล่าได้นำมาเป็นข้อคิด “สำหรับ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา” นำหลักธรรมะมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพได้แก่
ฉันทะ ความพึงพอใจ โดยให้บุคลากรทุกคนได้ทำงานอย่างที่ตนเองชอบ ปฏิบัติงานด้วยความวิริยะอุตสาหะมีความเพียรพยายามในการทำงาน
ทำงานด้วยความคิดก่อนทำ การทำงานด้วยความไตร่ตรอง มีความรอบคอบ ถูกต้อง รวดเร็ว
การบริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร
ดังนั้นผู้บริหารโรงเรียนเป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของโรงเรียนในการเป็นแบบอย่างที่ดีที่จะนำโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพสู่ความสำเร็จ
ต้องมีคุณลักษณะของผู้นำที่สำคัญ ได้แก่ มีความซื่อสัตย์ มีความยุติธรรม มีความมุ่งมั่น
ขยัน อดทน มีความรับผิดชอบสูง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีภาวะผู้นำสูง เป็นคนกล้าคิด
กล้าเปลี่ยนแปลง กล้าตัดสินใจ มีคุณธรรมจริยธรรม มีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูง เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้และมีความจริงใจ
จากประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าได้สอนสาขาการบริหารการศึกษามาเป็นเวลา 35 ปีเศษ มีโอกาสไปศึกษา ดูงานด้านการบริหารจัดการโรงเรียน
ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา ทั้งในประเทศ และต่างประเทศในหลายๆ ประเทศ
จากการสังเกตและพบปะแลกเปลี่ยนกันจะมีความแตกต่างกันบ้างตามบริบทของแต่ละประเทศ มีปัญหาอุปสรรคต่างกันแต่ที่
คล้ายๆ กัน คือ การบริหารเชิงคุณภาพ กับการประกันคุณภาพการศึกษาคุณภาพผู้เรียนมุ่งเน้นสู่ความเป็นสากล โดยใช้การบริหารที่เน้นแบบการมีส่วนร่วม การบริหารโดยยึดประชาธิปไตย
การสร้างทีมงาน หลัก 5 ส. เทคนิคการวิเคราะห์แบบ SWOT. การบริหารแบบ
TQM. การบริหารระบบคุณภาพ ISO 9002 จนสามารถบริหารโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สรุป: ในการบริหารโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพ
และประสบกับความสำเร็จได้นั้นไม่มีทฤษฎี และหลักการใดที่เหมาะสมที่สุด ที่สามารถนำมาใช้บริหารได้กับทุกโรงเรียน
แต่ถ้าโรงเรียนนั้นๆ มีผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพ ใช้หลักธรรมาภิบาลใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญในการนำเทคนิควิธีทฤษฎีและหลักการต่างๆที่หลากหลายมาบูรณาการ/เพื่อปรับใช้กับการบริหารจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับสภาพเหตุการณ์ สถานที่ ระยะเวลา
และปัจจัยแวดล้อม จึงจะประสบกับความสำเร็จและมีประสิทธิภาพในที่สุด
บรรณานุกรม
การปกครอง,กรม.
2540 วิสัยทัศน์การจัดการศึกษาท้องถิ่นที่สนองต่อรัฐธรรมนูญ. แห่งราชอาณาจักร
ไทย .กรุงเทพฯ : กรมการปกครอง
กระทรวงมหาดไทย,โรงพิมพ์อาสา รักษาดินแดน
กรมการปกครอง.
คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, สำนักงาน.
2545 ความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษา
ของประเทศไทย” กรุงเทพฯ:
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี, พิมพ์ครั้งที่ 1, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์.
________. 2542. “พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542”, สำนักงาน.กรุงเทพฯ:
คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี บริษัท พริกหวานกราฟฟิค
จำกัด.
________. 2509._คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,
สำนักงาน. “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับที่ 1-9 (พ.ศ.2504-2509) ,
สำนักงาน กรุงเทพฯ : คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.
________. 2549.. “ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและคุ้มครองทางสังคมในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับที่ (พ.ศ.2545-2549)”, สำนักงานกรุงเทพฯ : คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.
เชิดศักดิ์ ศุภโสภณ. ม.ป.ป. การบริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพ โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
http:// www.itie.org/eqi
ธีระ รุญเจริญ. 2548 สู่ความเป็นผู้บริหารสถานศึกษามืออาชีพ. กรุงเทพฯ : บริษัทสำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง จำกัด
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, ศจ.ดร.2542. “การสร้างธรรมาภิบาล (Good
Governance) ในสังคมไทย”, เอกสารวิจัยส่วนบุคคลชมเชย
ในฐานะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 41 ประจำปีการศึกษา
พุทธศักราช 2541-2542,กรุงเทพฯ : วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
เลขาธิการรัฐสภา, สำนักงาน.
2540. “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540”,
สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา, กรุงเทพฯ, สุกัญญา ตีระวนิช บรรณาธิการ และร่วมเรียบเรียงกับคณะ. “คลื่นลูกที่สาม”,เรียบเรียงจาก “The
Third Wave” ของ อัลวิน ทอฟฟเลอร์, กรุงเทพฯ
: สำนักพิมพ์หยินหยาง.
________. 2542. “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี
พ.ศ.2542”, สำนักนายกรัฐมนตรี,
กรุงเทพฯ : ฝ่ายโรงพิมพ์ กองกลาง สำนักงาน ก.พ.
สุทัศนา สุทธิกุลสมบัติ ม.ป.ป. ธรรมาภิบาล คืออะไร แปลจาก What is Good Governance: http://www.unescap.org/ อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ และกรรมการสาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา. UNESCP. United Nation
Economic and Social Commission for Asia and Pacific. IMF. International Monetary Funds ADB.
Asia for Development Bank
สุเทพ พงศ์ศรีวัฒน์ (2545). ภาวะผู้นำ
: ทฤษฎีและปฏิบัติ. กรุงเทพฯ : บุคส์ลิงค์.
สุเทพ พงศ์ศรีวัฒน์ (2544). เอกสารคำสอนวิชาพฤติกรรมองค์การ.
เชียงราย : สถาบันราชภัฏเชียงราย.
อาร์มสตรอง, โธมัส.
อารี สัณหฉวี แปล. 2542.“พหุปัญญาในห้องเรียน
: วิธีการสอนเพื่อพัฒนาปัญญาหลายด้าน (Multiple Intelligence
in the Classroom) .กรุงเทพฯ : ศูนย์พัฒนาหนังสือ
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ.
Johnson, C.E.
(2001). Meeting the ethical challenges of
leadership. Thousand Oaks, CA : Sage
Publications. http://eric.
Uregon.edu/publications/digests/digest 107. Html-Ethical Leadership.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น