วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา

การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา
(Ethnographic Research)
นายเชี่ยวชาญ  ภาระวงค์

บทนำ
การศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnographic Studies) เป็นวิธีการศึกษาของสาขาวิชามานุษยวิทยา (Anthropological Method) ต่อมานักวิจัยและนักวิชาการในสาขาอื่นๆ เช่น ด้านสังคมศาสตร์ และด้านการศึกษาได้นำวิธีการนี้มาใช้ในศาสตร์ของตน การศึกษาชาติพันธุ์วรรณนาในยุคแรกๆ ความสนใจจำกัดอยู่เฉพาะการศึกษากลุ่มชน บางกลุ่มในสังคม เช่น กลุ่มชนที่ล้าหลังชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาวนา กลุ่มชนในชนบท ต่อมาเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น ขยายความสนใจศึกษาไปยังกลุ่มทางสังคม วัฒนธรรม สถาบัน และองค์กรร่วมสมัยทุกรูปแบบ เช่น สังคมเกษตรกรรม กลุ่มกรรมาชีพ กลุ่มสตรี พระสงฆ์ ชุมชนในเมือง เป็นต้น โดยได้ทำการศึกษาวัฒนธรรม ความคิด ความเป็นอยู่ของคนกลุ่มนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง แต่การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ เรื่อง ความไม่เข้มงวดของระเบียบวิจัย ทั้งประเด็นการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล แต่โดยภาพรวมแล้ววิธีการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาก็ยังคงเป็นวิจัยเชิงคุณภาพ (ชายโพธิสิตา.2550:153 อ้างอิงจาก http:images.senarat.multiplycontent.com)

ความหมาย
ชาย โพธิสิตา (2548:34 )(http:images.senarat.multiplycontent.com) ให้ความหมายของชาติพันธุ์วรรณนาไว้ว่า ชาติพันธุ์วรรณนา หมายถึง กระบวนการสังเกตพฤติกรรม และวิถีชีวิตของกลุ่มทางสังคม และวัฒนธรรมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แล้วรายงานโดยละเอียดถึงพฤติกรรม ความเชื่อ ความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ ตลอดจนค่านิยม อันเป็นผลมาจากพฤติกรรมของคนในกลุ่มนั้นๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ ชาติพันธุ์วรรณนาเป็นการพรรณนาถึงวิถีชีวิต หรือวัฒนธรรมของคนในสังคมใดสังคมหนึ่ง
อลิศรา ศิริเกิด (2541:20)( http:images.senarat.multiplycontent.com) ให้ความหมายของการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnographic Research) ว่าเป็นการศึกษาวัฒนธรรม โดยวัฒนธรรม หมายถึง ลักษณะของการดำเนินชีวิตของบุคคล หรือของกลุ่มบุคคลในสังคมหนึ่งๆ หรือชุมชนหนึ่งๆ ตามความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา และภาษา
ศุภกิจ วงศ์วิวัฒนนุกิจ (2550:90-91) กล่าวว่า Ethnographic เป็นการศึกษาทางชนชาติวิทยา และการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา เป็นแนวทางหนึ่งในการวิจัยเชิงคุณภาพที่มุ่งอธิบาย และตีความข้อมูลทางสังคม เจตคติ ความเชื่อ ความรู้สึก วัฒนธรรม และพฤติกรรมของมนุษย์ โดยมีวิธีการเก็บข้อมูลหลายๆวิธีในทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นักวิจัยต้องแฝงตัวเองเข้าไป คลุกคลีอยู่กับประชาชนในชุมชนหรือท้องถิ่นที่ต้องการศึกษา เพื่อได้ข้อมูลเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม และวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการแสดงออกของความรู้สึก และพฤติกรรมต่างๆ ของประชากรจนได้ข้อมูลเพียงพอที่จะนำไปวิเคราะห์ แปลผล สรุปผลหรือสร้างทฤษฎีเพื่อใช้อธิบายพฤติกรรมทางวัฒนธรรมของประชากรได้
Geertz (อลิศรา ศิริศรี. 2541:250. อ้างอิงจาก Geertz : 1975) กล่าวว่า การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา คือ การนำตัวเราหรือผู้วิจัยเข้าไปสู่ สิ่งที่ Geertz เรียกว่า “Thick Description” หมายถึง ความพยายามที่จะบรรยายหรือพรรณนา(Describe) อย่างละเอียดลึกซึ้งถึงเหตุการณ์ปรากฎการณ์ หรือสิ่งที่เกิดขึ้น การตีความหมายหรือหาความหมาย(Interpretation) เพื่อที่จะอธิบายถึงลักษณะและความเป็นไปอันสลับซับซ้อนของสังคมนั้นๆ 
LeCompte and Schensul (ชาย โพธิสิตา.2550:1478.อ้างอิงจาก LeCompte and Schensul.1999a:1) เห็นว่า ชาติพันธุ์วรรณนาเป็นวิธีการศึกษาชีวิตทางสังคม และวัฒนธรรมของชุมชน สถาบัน รวมถึงกลุ่มหรือองค์กรในรูปแบบอื่นๆ วิธีการนี้มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นการค้นคว้าหาหาข้อเท็จจริง ใช้ตัวนักวิจัยเป็นเครื่องมือหลักในการเก็บรวบรวมข้อมูล ใช้วิธีการเก็บข้อมูลที่เคร่งครัดเพื่อหลีกเลี่ยงอคติ และเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของประชาชนผู้ให้ข้อมูล ใช้วิธีดำเนินการวิจัยแบบอุปนัย สร้างทฤษฎีขึ้นมาจากท้องถิ่นที่ศึกษาเพื่อทำการทดสอบและปรับใช้ภายในท้องถิ่นและกับที่อื่น
Stewart (ชาย โพธิสิตา. 2550:148. อ้างอิงจาก LeCompte and Schensul 1998) หลีกเลี่ยงที่จะให้ความหมาย แต่กล่าวถึงลักษณะสำคัญของวิธีการนี้ประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้ คือ ใช้การสังเกตแบบมีส่วนร่วม เป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นการวิจัยที่เน้นความเป็นองค์รวม เป็นการวิจัยที่ให้ความสำคัญแก่บริบท รวมทั้งมีการพรรณนา และการวิเคราะห์ที่เน้นปัจจัยทางวัฒนธรรม และสังคมเป็นตัวแปรสำคัญ
Willam Wiersma (1986:16) ได้กล่าวถึงชาติพันธุ์วรรณนาว่าเป็นเรื่องลึกซึ้ง เป็นเรื่องของการพรรณนาวิเคราะห์สถานการณ์ทางวัฒนธรรมที่เฉพาะเจาะจง ส่วนความหมายกว้างๆเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมของการศึกษา การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาจึงเป็นเรื่องทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับมานุษยวิทยา แต่มีการนำมาใช้ในการศึกษา
นรินทร์ นำเจริญ (www.narinsite.com เว็บไซด์ที่เข้าถึง www.narinsite.com /knowledges/mc_306/12.ppt) ได้ให้ความหมายของวิจัยชาติพันธุ์วรรณนาว่าเป็นการวิจัยที่ใช้การสังเกตแบบมีส่วนร่วมเป็นวิธีการเก็บข้อมูล เป็นการวิจัยที่เน้นความเป็นองค์รวม ให้ความสำคัญกับบริบทรวมทั้งมีการพรรณนาและวิเคราะห์ที่เน้นปัจจัยทางวัฒนธรรมและสังคมเป็นตัวแปรสำคัญ
         สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ( www.rinac.ac.th/
modules.php) ได้ให้ความหมายของชาติพันธุ์วรรณนา ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรมขนบประเพณี วิถีชีวิตของกลุ่มคนในสังคมชาติพันธุ์วรรณนา ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Ethnographic พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาอังกฤษ-ไทย ให้ความหมายไว้ว่า สาขาหนึ่งของมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ที่มุ่งพินิจศึกษาวัฒนธรรมต่างๆ เชิงพรรณนาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัฒนธรรมของชน ในระดับดั้งเดิม ชาติพันธุ์วรรณนา เป็นวิจัยเชิงคุณภาพ ที่มุ่งการพรรณนา การตีความหมาย ของกลุ่มคน รวมถึงระบบทางสังคม หรือทางวัฒนธรรม
พิชญ์สินี ชมพูคำ และพิมพ์ทอง สังสุทธิพงศ์ (การวิจัยเชิงคุณภาพ http://202.129.0.151)
ได้รวบรวมรูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ และความหมายการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาดังนี้ ตามพจนานุกรมศัพท์การวิจัยและสถิติ ศุภกิจ วงศ์วิวัฒนนุกิจ กล่าวว่า Ethnographic หมายถึง การศึกษาทางชนชาติวิทยา การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา เป็นแนวทางหนึ่งในการวิจัยเชิงคุณภาพที่มุ่งอธิบาย และตีความข้อมูลทางสังคม เจตคติ ความเชื่อ ความรู้สึก วัฒนธรรม และพฤติกรรมของมนุษย์ โดยมีวิธีการเก็บข้อมูลหลายๆ วิธีในทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นักวิจัยต้องแฝงตัวเองเข้าไปคลุกคลีอยู่กับประชากรในชุมชนหรือท้องถิ่นที่ต้องการศึกษา
จากความหมายข้างต้นสรุปได้ว่า ชาติพันธุ์วรรณนา(Ethnographic) เป็นการศึกษาทางชนชาติวิทยา และการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาเป็นแนวทางหนึ่งของการวิจัยเชิงคุณภาพที่มุ่งอธิบาย และตีความข้อมูลทางสังคม เจตคติ ความเชื่อ ความรู้สึก วัฒนธรรม ภาษา และพฤติกรรมของมนุษย์ วิถีชีวิตของกลุ่มคนในสังคม โดยใช้วิธีค้นคว้าหาข้อเท็จจริงที่มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งผู้วิจัย จะเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการเก็บข้อมูลที่เคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงอคติ และให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง การเคราะห์ข้อมูลเน้นการพรรณนา และการวิเคราะห์ที่เน้นปัจจัยทางวัฒนธรรมและสังคมเป็นตัวแปรสำคัญ โดยทั่วไปการศึกษาทางชนชาติวิทยาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
    (1) ระดับมหัพภาค (macroethnography) เน้นถึงวัฒนธรรมในภาพกว้าง
    (2) ระดับจุลภาค (microethnography) เน้นวัฒนธรรมที่แคบลงมาในขนาดประชากรที่น้อยลง หรืออาจเป็นการศึกษาเฉพาะกรณีในหน่วยงาน

จุดมุ่งหมาย
ในช่วงแรกชาวตะวันตกเป็นผู้ริเริ่มศึกษาวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ที่จะมีความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชนกลุ่มอื่น เพื่อประโยชน์ในการติดต่อและเปลี่ยนแปลงสังคม(อลิศรา ศิริศรี. 2541:249) ดังนั้นในระยะแรกจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาวัฒนธรรมของกลุ่มชนหรือสังคมว่าเป็นอย่างไร (นิศา ชูโต.2548:38, อลิศรา ศิริศรี. 2541:249,ชาย โพธิสิตา.2550:150,ทรงคุณ จันทจร. 2549:7) เป็นการศึกษาถึงวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิต ความเชื่อ ของกลุ่มชนหนึ่งๆอย่างละเอียด (นิศา ชูโต. 2548:38, อลิศรา ศิริศรี. 2541:249,ทรงคุณ จันทจร.2549:7) และในปัจจุบันวัตถุประสงค์ของการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณนา มีแนวโน้มที่มุ่งทำความเข้าใจปัญหาเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง (problem-oriented) มากขึ้น แทนที่จะเป็นการศึกษาเพื่อพรรณนาหรือทำความเข้าใจชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยรวมๆ ประเด็นเจาะจงที่ศึกษาอาจมีหลากหลาย เช่น พฤติกรรมการใช้ยาชุมชน การเลี้ยงดูเด็กในชุมชนเมือง เป็นต้น 
        จะเห็นได้ว่า การศึกษาวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาเป็นการศึกษาที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อศึกษาวัฒนธรรมของกลุ่มชนหรือสังคม ไม่ใช่บุคคล ถึงแม้พัฒนาการของการศึกษาจะเปลี่ยนแปลง

ลักษณะทั่วไป
สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (www. rinac.ac.th/
modules.php) ได้กล่าวถึงลักษณะทั่วไปของการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา ดังต่อไปนี้
    1. เป็นการวิจัย ที่มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ที่ค้นคว้าศึกษาหาข้อเท็จจริง โดยใช้ตัวนักวิจัยเป็นเครื่องมือหลัก ในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยปราศจากอคติ
    2. ให้ความคิดเห็นของผู้ที่ให้ข้อมูล (Key informants) เป็นสำคัญ
    3. ดำเนินการวิจัยแบบอุปนัย (Inductive research) คือ การศึกษาวิจัยที่เริ่มต้นจาก สิ่งที่จำเพาะเจาะจง เพื่อเชื่อมโยงไปสู่สิ่งอื่นที่มีอยู่ทั่วไป
    4. เป็นการสร้างองค์ความรู้ หรือทฤษฎีขึ้นมาจากท้องถิ่น ที่ทำการศึกษา (Grounded theory) เพื่อทำการทดสอบปรับปรุง พัฒนา ให้เหมาะสมเพื่อใช้ภายในท้องถิ่นและในที่อื่นๆ
    5. ใช้เครื่องมือที่ออกแบบมาเก็บข้อมูล กับคนได้ทุกประเภท
    6. เลือกกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาแบบเจาะจง
    7. มีการออกแบบการวิจัย ที่ยืดหยุ่น สามารถปรับได้ตามสภาพความจำเป็น

ลักษณะสำคัญ
พิชญ์สิณี ชมพูคำ และพิมพ์ทอง สังสุทธิพงศ์ (http://202.129.0.151) ได้กล่าวถึงลักษณะสำคัญของวิธีการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา ที่ต่างจากวิธีการเชิงคุณภาพแบบอื่น หรืออาจเรียกว่าลักษณะพิเศษของชาติพันธุ์วรรณนา คือ
    1. ใช้ประโยชน์จากมโนทัศน์ทางวัฒนธรรมเป็นแนวคิดหลักในการอธิบายและการตีความผลการศึกษา
    2. ใช้การสังเกตแบบมีส่วนร่วมเป็นวิธีการหลักในการเก็บข้อมูล โดยผู้วิจัยอยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มชนที่ตนศึกษาเป็นเวลานานๆเพื่อซึมซับทำความเข้าใจในวิถีชีวิตความคิดเห็นของกลุ่มชนนั้นๆ เสมือนว่าตนเป็นสมาชิกของกลุ่มชนที่ตนศึกษา เรียกว่าเป็นคนใน มากกว่าคนนอก
    3. เน้นความเป็นองค์รวม มี 2 นัย คือ
นัยแรก การถือว่าบุคคล สังคม วัฒนธรรม อันใดอันหนึ่งเป็นหน่วยบูรณาการ ประกอบด้วยหลายส่วน มีหลายมิติ และแต่ละส่วนแต่ละมิติมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน
นัยที่สอง คือ การทำความเข้าใจสิ่งที่ตนศึกษา ต้องเข้าใจแบบองค์รวม ไม่ศึกษา
เฉพาะมิติใดมิติหนึ่ง และการอธิบายใช้ทั้งความกว้างและความลึกของประเด็น โดยนัยแล้ว คือ นักวิจัยต้องเก็บข้อมูลหลากหลายชนิด และอธิบายประเด็นที่ศึกษาจากมุมมองของแนวคิดหลายแบบ
    4. ให้ความสำคัญอย่างมากกับบริบท ปัจจัยที่เป็นสภาพแวดล้อมหรือภูมิหลัง ทั้งสภาพแวดล้อมกายภาพ สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การเมืองฯลฯ เพื่อใช้ในการทำความเข้าใจประเด็นที่ศึกษาเพราะพฤติกรรมของบุคคล กลุ่มคน จะมีความหมายภายใต้บริบทเฉพาะแห่งเท่านั้น
    5. ใช้วิธีการเก็บข้อมูลหลายแบบและใช้ข้อมูลหลายด้าน

รูปแบบวิธีดำเนินการวิจัย
1. ขั้นตอนในการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณา อลิศรา ศิริศรี (2541:251-252) ได้เสนอแนวทางการทำวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณาไว้ 4 ขั้นตอน ดังนี้
    1.1 การเข้าสูสนามและการกำหนดบทบาทผู้วิจัย (Entry to the field &Establishing the role)
    1.2 การเก็บรวบรวมข้อมูล (Collecting Data)
    1.3 การวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis of Data)
    1.4 การเสนอผลสรุปการวิจัย (Presenting the Study)
การเข้าสู่สนามและการกำหนดบทบาทผู้วิจัย อลิศรา ศิริศรี (2541:251-252) ได้เสนอแนวทางการเข้าสู่สนามและการกำหนดบทบาทผู้วิจัยไว้ดังนี้
    1) ผู้วิจัยต้องทำตนเองให้คุ้นเคยกับสถานที่ สถานการณ์ สภาพการณ์ สิ่งแวดล้อมที่ต้องการศึกษาโดยคร่าวๆ
    2) ผู้วิจัยกำหนดบทบาทของตนเองในสภาพการณ์นั้นให้แน่ชัด ว่าตนเองเป็นใคร และจะมาทำอะไรในสังคมนั้น
    3) ผู้วิจัยจำเป็นต้องชี้แจงและแนะนำตนเองกับสมาชิกหรือบุคคลในสังกัดนั้นที่ตัวเองจะต้องเกี่ยวข้อง
    4) ผู้วิจัยต้องแสดงบทบาทให้สอดคล้องกับที่ได้ชี้แจงไว้
1.2 วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล(Collecting Data) กระบวนการศึกษาวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา จะมีลักษณะการดำเนินงานที่ต่อเนื่องและมีลักษณะที่เหลื่อมล้ำ เช่น การเก็บข้อมูลนี้จะเริ่มตั้งแต่ผู้วิจัยได้ย่างก้าวเข้าสู่สภาพการณ์นั้น ตั้งแต่การเก็บข้อมูลเบื้องต้นง่ายๆ จนสังเกตลักษณะของบุคคล เทคนิคการเก็บข้อมูลของการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา ควรมีวิธีการหลักอย่างน้อย 3 วิธี (อลิศรา ศิริศรี.2541:252) คือ
    1.2.1 การสังเกต (Observation) การสังเกตมีหลายรูปแบบ แต่ที่เป็นหัวใจของการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณนา คือ การเข้าไปอยู่ในสังคมหรือสนามที่ศึกษาเพื่อทำการสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant bservation) ในการศึกษาวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเป็นอยู่ความเชื่อ การดำเนินชีวิตต่างๆอย่างละเอียด ผู้วิจัยต้องทำตนเป็นกลางไม่เข้ากลุ่มกับสมาชิกย่อยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
    1.2.2 การสัมภาษณ์ (Interview) เป็นวิธีการเก็บข้อมูลที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ลักษณะของการสัมภาษณ์นั้นควรแบ่งออกมาในลักษณะของการสนทนา(Conversation) มากกว่าที่จะเป็นการสัมภาษณ์ตามรูปแบบ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนความคิด ข้อมูล ประสบการณ์ระหว่างผู้วิจัยกับสมาชิกของสังคม ลักษณะของคำถามจะเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ และบุคคล (อลิศรา ศิริศรี. 2541:252 , นิศา ชูโต. 2548:40)
    1.2.3 การศึกษาวิเคราะห์เอกสาร(Document Analysis) เอกสารต่างๆที่จะใช้ในการวิเคราะห์นั้นมีอยู่หลายรูปแบบนับตั้งแต่หนังสือพิมพ์ ทะเบียนประวัติ จดหมาย บันทึกข้อความจดหมายเหตุบันทึกประจำวัน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นกิจวัตรประจำวัน ความคิดพื้นฐานของสังคมการดำเนินชีวิตของกลุ่มสังคม ได้อีกลักษณะหนึ่ง และยังเป็นการยืนยันข้อมูลที่ได้มา โดย 2 วิธีแรก (ชาย โพธิสิตา. 2550:156)
    1.3 การวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis of Data) อลิศรา ศิริศรี (2541:254) ได้กล่าวถึงการศึกษาวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาว่ามีรูปแบบการเก็บรวบรวมข้อมูลในหลายลักษณะ หลายวิธี และระยะเวลาที่ใช้ในการเก็บข้อมูลแตกต่างกัน การศึกษาวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนามีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง คือ ขั้นตอนการวิจัยเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องและอาจเกิดขึ้นพร้อมกันได้ ผู้วิจัยไม่จำเป็นต้องรอให้การเก็บข้อมูลเสร็จ จึงเริ่มวิเคราะห์ข้อมูล เพราะการวิเคราะห์ข้อมูลสามารถทำได้ตั้งแต่เริ่มกระบวนการเก็บข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูลของการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา สามารถทำเหมือนการวิจัยเชิงคุณภาพทั่วไป คือ การนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้มาจัดเก็บให้เป็นระบบระเบียบ การนำเสนอข้อมูล และตีความ และการหาข้อสรุป แต่ก่อนที่จะวิเคราะห์ข้อมูล ควรมีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อน ซึ่งในการวิจัยเชิงคุณภาพมีเทคนิคหนึ่งที่ได้รับความนิยมนำมาใช้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล คือ เทคนิคสามเส้า (Triangulation Technique) เทคนิคนี้แบ่งออกเป็น 4 ประเภท (ศุภกิจ วงศ์วิวัฒนนุกิจ. 2550:276) ได้แก่
    1) ต่างวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล (method triangulation) เป็นการใช้หลายๆวิธีในการเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น เก็บรวบรวมข้อมูลในเรื่องเดียวกันจากกลุ่มตัวอย่างเดียวกัน ด้วยวิธีการสังเกต สัมภาษณ์ และเก็บข้อมูลจากเอกสาร แล้วนำข้อมูลมาตรวจสอบยืนยันกัน
    2) ต่างแหล่งข้อมูล (data sources triangulation ) เป็นการตรวจสอบข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งที่ต่างกันนั้นด้วยวิธีการเก็บข้อมูลเหมือนกัน หรือใช้ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเดียวกันแต่ต่าง เวลา สถานที่ และบุคคล แล้วนำข้อมูลมาตรวจสอบยืนยันกัน
    3) ต่างนักวิจัย (investigator triangulation) เป็นการใช้นักวิจัยที่มาจากต่างสาขา หรือต่างประสบการณ์ หรือต่างภูมิหลังมาเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผล แล้วนำผลการวิจัยมาตรวจสอบยืนยันกัน
    4) ต่างทฤษฎีหรือแนวคิด (theory triangulation) เป็นการใช้ทฤษฎีหลายๆ ทฤษฎีมาเป็นแนวทางในการอภิปรายข้อค้นพบที่ได้จากการวิจัย ซึ่งอาจสอดคล้องหรือขัดแย้งกันก็ได้
    1.4 การเสนอผลสรุปของการวิจัย (Presenting the study) อลิศรา ศิริศรี (2541:255-256) ได้กล่าวว่า การที่ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากการสังเกต การสัมภาษณ์ หรือการวิเคราะห์เอกสาร ผู้วิจัยต้องใช้เวลานานในการเก็บรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ ข้อมูลที่ได้จะมีลักษณะเป็นเชิงพรรณนา มีข้อมูลจำนวนมาก การที่จะนำมาวิเคราะห์ทั้งหมดก็จะเป็นการเพิ่มปริมาณผลการศึกษามากขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องมีวิธีการและรูปแบบของการเสนอรายงานผลการวิจัย โดยต้องคำนึงถึงประเด็นสำคัญ และลักษณะของกลุ่มผู้อ่าน หรือผู้ที่จะรับฟังเป็นหลัก

ข้อควรคำนึงถึง
1. การเลือกประเด็น มักได้แก่ พฤติกรรมการสื่อสารของบุคคลกลุ่มต่างๆ ในสังคมโดยเฉพาะด้านรูปแบบ วิธีการ เทคนิค และวัฒนธรรม การสื่อสาร โดยเลือกศึกษาในบริบทใดบริบทหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง หรือมีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม
2. การเลือกตัวอย่าง โดยทั่วไปใช้วิธีเลือกแบบเจาะจง คือ นักวิจัยสรรหาตัวอย่างที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับเรื่องที่จะศึกษาหรือไม่ โดยมีข้อควรคำนึงถึงในการเลือกตัวอย่าง ดังนี้
    - คำถามในการวิจัยที่นักวิจัยต้องการหาคำตอบ
    - จุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของการวิจัย
    - กรอบแนวคิดทฤษฎีในการวิจัย
3. การลงพื้นที่ นักวิจัยต้องการหาข้อมูลทั่วไปจากประชากรกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในข่ายจะถูกเลือกเป็นตัวอย่างในการศึกษา และลงไปฝังตัวอยู่กับสมาชิกในกลุ่มเป้าหมาย ทำตัวให้คุ้นเคยกับสถานที่ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสมาชิกเหล่านั้น
4. การกำหนดบทบาทของนักวิจัย
    1. บทบาทในฐานะเป็นคนใน เป็นการสังเกตแบบมีส่วนร่วม บางครั้งอาจร่วมกิจกรรมกับชุมชนทุกกิจกรรม บางครั้งมีส่วนร่วมกับชุมชนเป็นบางกิจกรรม
    2. บทบาทในฐานะเป็นคนนอก เป็นการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมกับชุมชน ส่วนใหญ่ให้ความสนใจศึกษาประเด็นต่างๆ เช่น สภาวะทางสังคม เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่มีผลต่อการสื่อสารของคนในชุมชน (www.narinsite.com/knowledges/ mc_306/12.ppt)

ข้อจำกัด
ชาย โพธิสิตา (2550:161-162) ได้กล่าวถึงข้อจำกัดของการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา ดังนี้
    1. เนื่องจากวิธีการเชิงชาติพันธุ์วรรณนาใช้มโนทัศน์ทางวัฒนธรรมเป็นหลักในการวิเคราะห์อย่างมาก นักวิจัยที่ประสบผลสำเร็จควรมีพื้นความรู้เกี่ยวกับมานุษยวิทยาวัฒนธรรม
    2. การเก็บข้อมูลภาคสนามของชาติพันธุ์วรรณนาต้องใช้เวลานาน โดยทั่วไปนักวิจัยชาติพันธุ์วรรณนาอาจใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปีหรือมากกว่าในการทำวิจัยภาคสนาม
    3. ข้อมูลของการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนามักจะมีหลากหลาย ทั้งในด้านปริมาณและชนิดของข้อมูล จึงทำให้การวิเคราะห์เป็นงานที่ยาก สำหรับนักวิจัยที่มีประสบการณ์น้อย


****************************************************

ชาย โพธิสิตา. การวิจัยเชิงคุณภาพ : ข้อพิจารณาทางทฤษฎี. ตำราประกอบการสอนและการวิจัย
การศึกษาเชิงคุณภาพ เทคนิคการวิจัยภาคสนาม. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพมหานคร.
โครงการเผยแพร่ข่าวสารและการศึกษาด้านประชากร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม
มหาวิทยาลัยมหิดล, 2548. หน้า 28-52.
ชาย โพธิสิตา. ศาสตร์และศิลป์แห่งการวิจัยเชิงคุณภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร.
อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2550.
ทรงคุณ จันทจร. เอกสารประกอบการสอนวิชาการวิจัยเชิงคุณภาพทางวัฒนธรรมขั้นสูง.
สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 2549.
นิศา ชูโต. การวิจัยเชิงคุณภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 3 . กรุงเทพมหานคร. พริ้นต์โพร จำกัด, 2548.
ศุภกิจ วงศ์วิวัฒนนุกิจ. พจนานุกรมศัพท์การวิจัยและสถิติ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร:
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541. หน้า 249-257.
อลิศรา ศิริศรี. การนำวิธีวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนามาใช้ในการวิจัยทางการศึกษา. รวมบทความทางวิธี
วิทยาการวิจัย เล่ม 1 ชุดรวมบทความเล่มที่ 16 : พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร :

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541. หน้า 249-257.