วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556

คุณธรรม-จริยธรรมสำหรับนักบริหารที่ดี

คุณธรรม-จริยธรรมสำหรับนักบริหาร
เชี่ยวชาญ  ภาระวงค์

คุณธรรมคืออะไร

คุณธรรม เป็นคำ สมาส มีลักษณะเป็นคำนาม มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน ปี พ.. 2542 หน้า 253 หมายถึง สภาพคุณงามความดี เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่ถือครองอยู่เมื่อนำ คำว่าคุณธรรมไปประกอบกับลักษณะนามที่เป็นบุคคล เช่น ครู นักเรียน ข้าราชการ นักธุรกิจคุณธรรม หมายถึง คุณงามความดีที่บุคคลนั้น ๆ มีอยู่ เป็นความดีที่ทำให้ผู้ที่ถือครองอยู่ มีความสงบ มีความสุข และมากด้วยกัลยาณมิตร เนื่องคุณงามความดีที่บุคคลนั้นมีอยู่เป็นสิ่งที่ไม่เกิดโทษ ไม่เป็นผลเสียแก่ผู้ที่ถือครอง ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นสภาวะที่ทำให้บุคคลไม่เบียดเบียนตนเอง เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นคุณธรรมจึงเป็นสิ่งที่มีค่า มีประโยชน์ยิ่งสำหรับผู้ที่ถือครอง คำว่าคุณธรรมโดยความหมายแล้วจะมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าจริยธรรมซึ่งหมายถึงธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม ที่เป็นความดีความงาม เป็นสิ่งที่ควรกระทำ โดยปกติเรามักจะคิดอย่างคนทั่ว ๆ ไป ว่าจริยธรรมและคุณธรรมเป็นสิ่งเดียวกัน คือ เป็นความดีความงามเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ คำสองคำนี้จึงใช้ทดแทนกันในบางครั้ง อย่างไรก็ตามเมื่อนำคำ 2 คำนี้ ไปเทียบเคียงกับภาษาอังกฤษ จะพบว่า คำว่า คุณธรรม จะตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “Merit” ส่วนคำว่า จริยธรรม จะตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “Ethics” เมื่อพิจารณาจากความหมายตามคำ “Merit” เป็นคุณสมบัติภายในของบุคคลแต่ละคน ในทางสังคมวิทยาและจิตวิทยาคุณธรรมเป็นสภาวะที่บุคคลมีอยู่ในตนโดยกำเนิดและโดยการขัดเกลาทางสังคม ที่เป็นสภาวะโดยกำเนิด หมายถึง คุณสมบัติทางจิต ที่บุคคลมีอยู่ตามพื้นฐานของจิต ในทางพุทธศาสนา พื้นฐานของจิตมนุษย์ 2 ลักษณะมักจะถูกกล่าวอ้างบ่อยครั้ง คือ จิตที่ใฝ่ดี กับจิตที่ใฝ่ต่ำคุณธรรมเป็นสภาวะใฝ่ดีของจิตสำหรับ จริยธรรม นักสังคมวิทยาจะมองเป็นบรรทัดฐานประเภทหนึ่ง ที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้วนำไปใช้กับบุคคลเป็นแนวทางที่คนในสังคมเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นความดี ความงามเป็นสิ่งที่กระทำแล้วคนอื่นเกิดประโยชน์ มีความสุขสงบเกิดขึ้นแก่คนที่อยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ โดยนัยนี้ จริยธรรมจึงเป็นสิ่งที่อยู่ภายนอกเป็นเครื่องมือที่ใช้เป็นแนวทางในการสร้างความมีคุณธรรมให้กับบุคคล 

นักบริหาร คือ ใคร

นักบริหาร คือผู้นำองค์การที่มีความรู้ ความสามารถในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์การ นักบริหารจึงจำเป็นจะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลปแห่งการบริหารที่จะสามารถจูงใจให้ผู้ร่วมงานร่วมดำเนินการอย่างมุ่งมั่นจนบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ขององค์การ ดังนั้น การสร้างหรือพัฒนานักบริหารให้ทำหน้าที่เป็นผู้นำหรือผู้บริหารองค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นกระบวนการที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาองค์การและประเทศให้รุดหน้าไปได้โดยรวดเร็วและประหยัดในยุคแรก ๆ ที่มีการพัฒนาศาสตร์เกี่ยวกับการจัดการนักบริหารในทัศนะของนักสังคมศาสตร์สาขาการจัดการ หมายถึงผู้ที่วางแผนเกี่ยวกับงาน เงิน เทคโนโลยี และคน เป็นผู้ที่กำหนดโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในองค์การ เป็นผู้ที่ประสานงานให้เกิดความร่วมมือระหว่างสมาชิกในองค์การนักบริหารในยุคแรกไม่จำเป็นต้องปรับตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะการแข่งขันมีน้อย เนื่องจากมีผู้ผลิตไม่มาก ทรัพยากรธรรมชาติมีอย่างเหลือเฟือ มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมขององค์การค่อนข้างช้านักบริหารจึงหมายถึง นักจัดการ (Manager) ซึ่งมีหน้าที่จัดการทรัพยากรที่มี (คน เงิน วัตถุดิบ ที่ดิน และ ฯลฯ) ให้สามารถผลิตสินค้าและบริการด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด เป็นบุคคลที่พยายามทำสิ่งต่าง ๆ ให้ถูกต้อง (Managers do thing right) เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุดในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปมาก อันเนื่องมาจากการเทคโนโลยีการสื่อสารและการจัดระเบียบของประชาคมโลก ส่งผลให้มีการแข่งขันอย่างไร้พรหมแดนสูงมาก องค์การจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ การให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงภายในองค์การตามการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงบทบาทของนักบริหารในฐานะผู้ควบคุมสั่งการ (Director) มาเป็นผู้ให้การสนับสนุน (Facilitator) เปลี่ยนจากการแข่งขันมาเป็นการร่วมมือ (Collaboration) ลดการให้ความสำคัญกับวัตถุมาให้ความสำคัญกับคน และท้ายที่สุดเปลี่ยนแปลงจากความเหมือนมาเป็นความหลากหลายในองค์การการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้องค์การต้องการนักบริหารที่เป็นผู้นำ” (Leader) มากกว่าผู้จัดการ” (Manager) นักบริหารที่เป็นผู้นำ หมายถึง บุคคลที่ทำหน้าที่ทำสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง (Leaders do the right thing) ให้กับองค์การ การเป็นผู้บริหารในยุคโลกาภิวัตน์จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคุณธรรมทั้งนี้เพราะองค์การในยุคสมัยใหม่ (New society) ซึ่งเป็นองค์การที่ใช้ความรู้เป็นพื้นฐาน (Knowledge based organization) มีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา (Learning organization) มุ่งแสวงหาความเป็นเลิศ (In search for excellent) มีความโปร่งใส (Transparent) และมีความเป็นมาตรฐาน (Standardization) การที่ผู้บริหารจะทำให้องค์การประสบความสำเร็จในสังคมสมัยใหม่ได้ จึงจำเป็นที่ต้องใช้คุณธรรมและจริยธรรมพื้นฐานสำคัญ และเป็นสิ่งที่ผู้บริหารจะต้องทำให้เกิดขึ้นเป็นวัฒนธรรมขององค์การตามหลักวิชาการบริหารสมัยใหม่ นักบริหารผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จต้องมีคุณลักษณะที่ดีหลายประการ เช่น มีสุขภาพที่ดี มีประสบการณ์ในงาน มีความคิดสร้างสรรค์ มีความกล้าในการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล มีความอดทน มีความสามารถในการสื่อสารกับผู้ร่วมงานในทุกระดับได้ดี มีมนุษยสัมพันธ์ดีมีบุคลิกภาพดี อ่อนน้อมถ่อมตน มีความจงรักภักดีต่อองค์การ และ ฯลฯ
คุณลักษณะที่ดีหลากหลายประการดังกล่าวนี้ โดยหลักพุทธศาสนา ผู้บริหารหรือนายที่ดีต้องมี ศีล สมาธิ และปัญญา กล่าวคือ เป็นคนที่มีศีลกำกับตัวกำกับใจ เพื่อให้มีความรู้จักผิด ชอบ ชั่ว ดี ทำให้รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ การมีสมาธิที่ดี จะทำให้ผู้บริหารมุ่งมั่นในการทำงานได้สำเร็จอย่างมีสติด้วยดีและรวดเร็ว การใช้ปัญญาหรือความรอบรู้ที่ชอบด้วยเหตุและผลอันกว้างไกล ทำให้สามารถแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ดีกว่าคู่แข่ง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อความอยู่รอด ความมั่นคง และการพัฒนาองค์การอย่างมีประสิทธิภาพในท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็วและรุนแรง นอกจากนี้หลักการของศาสนาอื่น ๆ ก็สมควรจะนำมาใช้ได้ในบริบทของแต่ละศาสนา เช่นเดียวกับพุทธศาสนา
หลักพื้นฐานในส่วนหน้าที่เฉพาะของผู้บริหาร 5 ประการตามที่ศาสตราจารย์ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ได้วางไว้ประกอบด้วย
    1. เป็นผู้กำหนดเป้าหมาย
    2. จัดตั้งองค์การและวางระเบียบปฏิบัติให้เหมาะสม
    3. กระตุ้นให้พนักงานทำงานด้วยการสื่อสารภายในระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน
    4. ติดตามวัดผลในสิ่งที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือต้องแก้ไข
    5. พัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้บริหารเองด้วย
และเมื่อผู้บริหารท่านนั้นเป็นผู้บริหารที่เป็น CEO หรือผู้บริหารระดับสูง จะมีหน้าที่เฉพาะเพิ่มขึ้นอีก 6 ประการ คือ
    1. เป็นผู้กำหนดพันธกิจขององค์การให้ชัดเจน
    2. วางมาตรฐานในการปฏิบัติงาน
    3. ดูแลการจัดระเบียบทรัพยากรณ์มนุษย์
    4. พัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานภายนอก
    5. รับใช้สังคมหรือมีบทบาททางสังคมอื่น ๆ
    6. เลือกจับงานสำคัญในจังหวะเวลาที่เหมาะสม

การสร้างจริยธรรมเป็นวัฒนธรรมขององค์การ

ศัพท์ที่เรามักจะได้ยินบ่อยในวงของกลุ่มนักบริหาร คงไม่เกิน คำว่า ธรรมาภิบาลหรือ Good Governance ซึ่งหมายถึง การบริหารองค์การหรือประเทศโดยตั้งมั่นอยู่ในความดีงาม ความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ ประเมินคุณภาพได้ หลักการ ธรรมาภิบาลจึงเป็นหลักการของการสร้างจริยธรรมในองค์การ โดยการใช้ธรรมาธิปไตยในการบริหาร ซึ่งหมายถึง การยึดถือธรรมและความสำเร็จของงานเป็นที่ตั้ง ผู้บริหารลักษณะนี้จะยินดีรับฟัง คำแนะนำจากทุกฝ่าย ใช้คนทั้งที่เป็นมิตรและศัตรู ยอมรับความผิดพลาดของตนเอง ใช้ทั้งพระเดชและพระคุณในการบริหารคนเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายผู้บริหารแบบนี้จะแสดงบทบาทของผู้ให้บริการ (Stewardship) แก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา โดยสนับสนุนแนวคิดที่ว่า ผู้บริหารที่ดีต้องรับผิดและชอบ (Accountability) ต่อผู้อื่นและองค์การ ไม่ปรารถนาจะควบคุมผู้อื่นในลักษณะของเผด็จการ รู้จักกำหนดบทบาทและเป้าหมายที่ชัดเจน และดูแลผู้อื่นด้วยความใส่ใจ สิ่งสำคัญที่สุดของผู้บริหารประเภทนี้คือ ต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ (Double Standard) คือคิดอย่าง พูดอย่างแล้วทำอีกอย่าง ดั่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเตือนหมู่ข้าราชการ นักธุรกิจ และประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนม์พรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2544 ผู้บริหารที่เป็นผู้นำที่ดีจึงเป็นต้นแบบสำคัญในการสร้างจริยธรรมคุณธรรมให้กับสมาชิกในองค์การ องค์การจะมีวัฒนธรรมที่มีจริยธรรมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการมีจริยธรรมคุณธรรมของผู้บริหาร

คุณธรรมอะไรบ้างที่ผู้บริหารควรมี
คุณธรรมของบุคคลในสังคม

               ตามความเป็นจริงของสังคม ผู้บริหารต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถในหลายด้านที่เหนือกว่าคนทั่วไปดังนั้นผู้บริหารจึงต้องเป็นคนดีของสังคม และเกือบทุกสังคมจะยึดหลักการของศาสนามาเป็นพื้นฐานของความดีความงามในการอยู่ร่วมกัน แต่ในหลายกรณีก็อาจมีการปลูกฝังคติธรรมของสังคมโดยไม่ยึดโยงกับศาสนาโดยตรง เช่น ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นชนชาติที่มีจริยธรรมสูงมากประเทศหนึ่ง ปลูกฝังคติธรรม ตั้งแต่เด็กอย่างน้อยที่สุด 7 ประการ เพื่อให้เกิด การยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมซึ่งเป็นคุณธรรมที่สูงกว่าความซื่อสัตย์สุจริต คือ
                   • การมีสัจจะ ต้องพูดความจริง (Truth)
                   • มีความซื่อสัตย์สุจริต (Honesty)
                   • มีความรับผิดชอบในหน้าที่ (Sense of Duty)
                   • มีความอดกลั้น (Patience)
                   • มีความเป็นธรรม (Fair Play)
                   • มีการเข้าใจผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Consideration for Others)
                   • มีความเมตตา (Kindness)
           คุณธรรมจริยธรรมส่วนใหญ่สำหรับคนไทยจะเกิดจากการประยุกต์เอาคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นหลัก ผู้บริหารเป็นบุคคลธรรมดาที่มีครอบครัว จึงเป็นฆราวาสที่มีภาระหน้าที่รับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคมให้มีความเป็นปกติสุข ดังนั้นจึงสมควรอย่างยิ่งที่นักบริหารต้องสนใจศึกษาและปฏิบัติตามหลักธรรมของฆราวาสเป็นเบื้องต้น เพื่อบริหารครอบครัวและบริหารองค์การให้บรรลุเป้าหมายทั้งที่เป็นส่วนตัว องค์การ และสังคมโดยรวม

           ฆราวาสธรรม 4 (Virtues for a good Household life ; Virtues for Lay people) เป็นธรรมสำหรับผู้ครองเรือน ประกอบด้วย
               สัจจะ (Truth and Honesty) คือ ความจริง ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริงทำจริง - เน้นการมีศีล
               ทมะ (Taming and Traing Oneself ; Adjustment) คือ การฝึกฝน การข่มใจ ฝึกหัดดัดนิสัยปรับตัว แก้ไขข้อบกพร่อง ปรับปรุงตนให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญา - เน้นการมีใช้ปัญญา
               ขันติ (Tolerance ; Forbearance) คือ ความอดทน ตั้งหน้าทำการงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง ไม่หวั่นไหว มั่นในจุดหมายไม่ท้อถอย - เน้นความเพียร
               จาคะ (Liberality ; Generosity) คือ ความเสียสละ สละความสุขสบายและผลประโยชน์ส่วนตัวได้ ใจกว้าง พร้อมที่จะรับฟัง ความทุกข์ ความคิดเห็น และความต้องการของผู้อื่นพร้อมที่จะร่วมมือช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่คับแคบเห็นแก่ตน หรือเอาแต่ใจตัว - เน้นการเสียสละ
           ธรรมทั้ง 4 ประการนี้ ผู้ครองเรือนทุกคนจำเป็นต้องฝึกปฏิบัติให้เป็นนิสัย เพื่อป้องกันตนเองจากการทุจริตคิดมิชอบ โดยมีจิตใจที่มั่นคงไม่หวั่นไหวไปตามกิเลสตัณหา และมีหิริโอตัปปะ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป การจะประพฤติปฏิบัติให้ได้ผล บุคคลจะต้องรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ และมีการเตือนสติด้วยการทบทวนอย่างสม่ำเสมอ จึงจะมีปัญญาความรู้ในการพัฒนาจิตใจของตนเองสู่การเป็นฆราวาสโดยสมบูรณ์สำหรับผู้บริหารควรต้องมีธรรมะที่สูงกว่าฆราวาสธรรม อันนำไปสู่ความสำเร็จในการควบคุมตนเองคือ สัปปุริสธรรม (Qualities of a good man ; Virtues of a Gentleman) ซึ่งก็คือธรรมะสำหรับสัตบุรุษ หรือผู้สงบระงับ หรือธรรมะของผู้ดี ประกอบด้วย
               ธัมมัญญุตา (Knowing the law ; Knowing the cause) แปลว่า รู้จักธรรมชาติและรู้จักเหตุ หมายความว่า รู้หลักตามจริงของธรรมชาติ รู้หลักการ กฎเกณฑ์ แบบแผน หน้าที่ ซึ่งจะเป็นเหตุให้กระทำการได้สำเร็จผลตามความมุ่งหมาย
               อัตถัญญุตา (Knowing the meaning ; Knowing the purpose ; Knowing the Consequence) แปลว่า รู้ความมุ่งหมายและรู้จักผล หมายความว่า รู้ความหมายและความมุ่งหมาย และ รู้ผลที่ประสงค์ของกิจที่กระทำ
               อัตตัญญุตา (Knowing oneself) แปลว่า รู้จักตน หมายความว่า รู้ฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความรู้ ความถนัด ความสามารถและคุณธรรม ของตนตามจริง เพื่อประพฤติปฏิบัติได้เหมาะสมและให้เกิดผลดี
               มัตตัญญุตา (Moderation ; Knowing how to be temperate) แปลว่า รู้จักประมาณ หมายความว่า รู้จักความพอเหมาะพอดี
               กาลัญญุตา (Knowing the proper time ; Knowing how to choose and keep time) แปลว่า รู้จักกาล หมายความว่า รู้ว่าเวลาไหน ควรทำอะไร
               ปริสัญญุตา (Knowing the assembly ; Knowing the society) แปลว่า รู้จักชุมชน หมายความว่า รู้จักถิ่น รู้จักมารยาท ระเบียบวินัย ขนบธรรมเนียม ประเพณี และข้อควร
ปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสม
               ปุคคลัญญุตา (Knowing the individual ; Knowing the different individuals) แปลว่า รู้จักบุคคล หมายความว่า รู้จักความแตกต่างระหว่างบุคคลโดยอัธยาศัย ความสามารถและคุณธรรม เพื่อปฏิบัติต่อผู้นั้นโดยถูกต้อง
           ธรรมะชุดนี้สามารถท่องจำได้ง่าย ๆ ว่า รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักบริษัทรู้จักบุคคล ซึ่งเมื่อมีความรู้ถูกต้องในสิ่งเหล่านี้แล้ว ไม่มีทางที่จะทำอะไรผิดหรือล้มเหลว มีแต่ตจะสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ตนเองและผู้อื่น
           ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุเคยบรรยายธรรมที่น่าสนใจว่า ธรรมชีวี คือ การมีความประพฤติการกระทำที่เป็นธรรมะอยู่กับเนื้อกับตัว เป็นชีวิตจิตใจนั่นแหละมีธรรมเป็นชีวิต จะมีความถูกต้องอยู่ตลอดกาล ดังนั้นการดำเนินชีวิตอย่างฆราวาสด้วยระบบธรรมชีวีนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งที่สามารถป้องกันการเป็นฆราวาสประเภทจมปลักอยู่ใน อบายมุข 6 ซึ่งเป็นปากทางแห่งความทุกข์ อันได้แก่
               ดื่มน้ำเมา ที่นำสู่การขาดสติรับผิดชอบ บทบาทหน้าที่ในครอบครัวการงานและสังคม
               เที่ยวกลางคืน ที่จะกระตุ้นความรู้สึกของอายตนะ 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ให้หลงไปสู่ความเสื่อมทั้งการงานและสุขภาพ
               ดูการเล่น เพลิดเพลินในการแสดง จนเป็นเหตุให้สูญเสียทั้งเวลาและเงินทอง
               เล่นการพนัน ซึ่งมีลักษณะที่ท่านกล่าวว่า เหมือนผีสิง คือทำให้หลงเพลิดเพลินเล่นการพนันเสียจนทำให้ยากจนยิ่งกว่า หมดเนื้อหมดตัว
               คบเพื่อนชั่ว ที่จะชักนำให้ประกอบกิจกรรมของความชั่ว ความไม่ดีตามกลุ่มดังคติ คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล
               เกียจคร้านการงาน เป็นเรื่องตรงกันข้ามกับการทำงานคือ การปฏิบัติธรรม ที่มีแต่จะนำไปสู่ความอ่อนด้วยทั้งสติ ปัญญา และประสบการณ์
              อบายมุขทั้ง 6 ข้อ ดังกล่าวจะนำไปสู่ความยากจน ขัดสน การเบียดเบียนตนเองและผู้ที่อยู่รอบข้างตลอดจนความเสื่อมทางสุขภาพอนามัย อันเป็นต้นเหตุของความทุกข์ในครอบครัว และหากเป็นผู้บริหารที่ติดอยู่ในอบายมุขดังกล่าว ย่อมง่ายต่อการที่จะก้าวไปสู่การกระทำทุจริตคิดมิชอบเพื่อให้ตัวเองคงอยู่ได้
           หลักธรรมของพุทธศาสนายังมีความละเอียดลึกซึ้ง เพื่อนำไปสู่การประพฤติดี ประพฤติชอบ
กล่าวคือ หน้าที่รับผิดชอบของมนุษย์โดยตรงต่อ ทิศทั้ง 6” ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า เป็นทิศที่จะต้องดูแล อย่าให้มีอะไรบกพร่อง เพื่อปิดกั้นทุกข์ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่
               ทิศเบื้องหน้า คือ บิดา มารดา ที่กุลบุตรกุลธิดา ต้องสงเคราะห์เพื่อตอบแทนพระคุณอย่างสูงสุด
               ทิศเบื้องหลัง คือ บุตร ภรรยา ที่จะต้องดูแล ส่งเสริมให้มีความสุขและความเจริญในสังคม
               ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย ที่จะต้องเกื้อกูลและพัฒนาไปสู่การเป็นกัลยาณมิตร
               ทิศเบื้องขวา คือ ครูบาอาจารย์ ที่จะต้องตอบแทนท่านด้วยความเคารพ เชื่อฟังและกตัญญู
               ทิศเบื้องบน คือ สมณะ ที่ต้องปฏิบัติต่อท่านให้เหมาะสม เพื่อที่จะได้เผยแพร่ ธรรมะ ให้ฆราวาสได้มีปัญญา ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามหลักพุทธศาสนา
               ทิศเบื้องล่าง คือ ผู้ที่มีฐานะต่ำกว่า คือ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ที่ผู้บริหารจะต้องรับผิดชอบ ดูแลให้ได้ทั้งใจและงาน
           ดังนั้น จะเห็นได้ว่าผู้ที่ไม่บกพร่องหรือปฏิบัติอย่างดีในการดูแล ทิศทั้ง 6 ดังกล่าว ย่อมจะห่างไกลจากปัญหาแห่งความทุกข์ ความเสื่อมเสียทั้งในที่แจ้งหรือที่ลับ ในการป้องกันนักบริหารจาก อบายมุข 6 และบำรุงทิศทั้ง 6 ได้อย่างสมบูรณ์นั้น ต้องประกอบด้วยหลักธรรมหรือแนวปฏิบัติอื่น ๆ อีก


2 ความคิดเห็น:

  1. กำลังศึกษาที่​ ม.จร​ วิทยาเขตนครสวรรค์​

    ตอบลบ
  2. ชอบบทความนี้ครับ ขออนุญาติทำความรู้จักเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันในภายภาคหน้านะครับ

    ตอบลบ