ภาวะกรดไหลย้อน
(GERD)
ภาวะกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux
disease : GERD) เป็นโรคที่พบได้ในทุกกลุ่มอายุ
ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ
แม้จะเป็นโรคที่ไม่รุนแรงแต่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
ซึ่งปัจจุบันพบมากในการดูแลระดับปฐมภูมิ (Primary
care) (Levy, Stamm & Meiner, 2002) , (Kaynard
& Flora,2002.) ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก
(Heartburn) และการไหลย้อนของน้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร (Regurgitation) (Kaynard & Flora,2002.) ความรุนแรงของอาการและอาการแสดงเป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคล
เกือบทุกคนอาจเคยมีประสบการณ์การเรอและรู้สึกขมในปากแต่ไม่มีผลกระทบกับการดำรงชีวิตจึงไม่ใส่ใจ
อาการดังกล่าวถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆและปล่อยทิ้งไว้นานจะทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหารส่วนปลาย
ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สุขสบาย เจ็บปวดบริเวณคอ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดเป็นมะเร็งของหลอดอาหารและกล่องเสียงได้
(Kaynard & Flora,2001, Levy, Stamm & Meiner,2002) พยาบาลเป็นบุคลากรทีมสุขภาพที่มีบทบาทสำคัญมากในการดูแลระดับปฐมภูมิที่สามารถช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่มีอาการและอาการแสดงของภาวะกรดไหลย้อนดีขึ้นได้
โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องไปพบแพทย์หากได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง
ความหมายของภาวะกรดไหลย้อน
ภาวะกรดไหลย้อน เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหูรูดหลอดอาหารส่วนปลาย(Lower
Esophageal Sphincter : LES) อ่อนแรง หดรัดตัวไม่ดี
ทำให้มีการไหลย้อนกลับของน้ำย่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นมาที่ส่วนปลายของหลอดอาหาร
(Distal esophagus) การที่หลอดอาหารสัมผัสกับภาวะกรดนานๆจะนำไปสู่การเกิดการอักเสบของหลอดอาหารได้
ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สุขสบาย เจ็บหน้าอกหรือแสบหน้าอก ระคายเคืองบริเวณคอและรู้สึกรสขมหรือเปรี้ยวในปาก
สาเหตุและพยาธิสรีรวิทยาของ
GERD
ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าภาวะกรดไหลย้อนเกิดขึ้นได้อย่างไรแต่เชื่อว่าการหย่อนสมรรถภาพของหูรูดหลอดอาหารส่วนปลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน
หูรูดหลอดอาหารส่วนปลายเป็นกล้ามเนื้อหูรูดที่เชื่อมต่อกับกระเพาะอาหารเมื่อมีการกลืนเกิดขึ้น
กล้ามเนื้อนี้จะช่วยเคลื่อนให้อาหารผ่านส่งสู่กระเพาะอาหาร
และในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้อาหารและของเหลวในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาทางหลอดอาหาร
แต่ถ้าบุคคลมีการบริโภคที่มากเกินไปกระเพาะอาหารยืดขยายเต็มที่ก็อาจมีผลต่อการทำงานของหูรูดหลอดอาหารส่วนปลาย ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการของไส้เลื่อนที่กระบังลม (Hiatal herniation) ร่วมด้วยคือ กล้ามเนื้อระหว่างช่องท้องและทรวงอกแยกจากกันทำให้เกิดไส้เลื่อนมาที่กระบังลม
ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เชื่อมต่อระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร ไส้เลื่อนที่ค้างอยู่ที่กระบังลมจะรบกวนการทำงานของหูรูดหลอดอาหารส่วนปลาย
สำหรับในเด็กแรกเกิดถึงหนึ่งขวบ ปัญหาการหย่อนยานของหูรูดหลอดอาหารส่วนปลายพบได้บ่อยซึ่งเมื่อหูรูดหลอดอาหารส่วนปลายหดรัดตัวไม่ดีมีผลทำให้เด็กอาเจียน
ภาวะกรดไหลย้อนเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการไหลย้อนกลับของน้ำย่อยในกระเพาะอาหารอันเป็นผลมาจากการหดรัดตัวไม่ดีของหูรูดหลอดอาหารส่วนปลาย
ซึ่งปัจจัยที่ทำให้แรงหดรัดของหูรูดหลอดอาหารส่วนปลาย
ลดลง ได้แก่ อาหารไขมัน อาหารทอด หอมกระเทียม อาหารที่มีรสเผ็ด พิซซ่า
อาหารที่มีส่วนผสมของมะเขือเทศ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์
นิโคตินในบุหรี่ ช็อกโกแลต ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ส่วนยาที่มีผลได้แก่ Calcium
channel blocker, Nitrates, Theophylline, Diazepam และยาในกลุ่ม Nonsteroid anti-inflammatory drugs (ยาในกลุ่มนี้ช่วยให้ระดับของเอสโตรเจน และ โปรเจสเตอโรน สูงขึ้น
ซึ่งมีผลทำให้การบีบตัวของกล้ามเนื้อบริเวณหูรูดส่วนปลายอ่อนแรง) รวมถึงการมีแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นด้วย เช่น
คนอ้วน คนท้อง การยกของหนัก นอกจากนี้ปัจจัยอื่นๆที่มีผลต่อการหัดรัดตัวของหูรูดหลอดอาหารส่วนปลายลดลง
ได้แก่ พันธุกรรม และกระเพาะอาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนาน (Delayed
Gastric Emptying)
ภาวะกรดไหลย้อนทำให้เซลล์ของหลอดอาหารได้รับการระคายเคืองจากกรดในกระเพาะอาหารเป็นเวลานานทำให้เซลล์ของหลอดอาหารเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งได้
เรียกว่า Barrett’s
esophagus ซึ่งมักพบในผู้ใหญ่ที่มีปัญหาภาวะกรดไหลย้อน
มาหลายปีหรืออาจทำให้เกิดการตีบแคบของหลอดอาหาร(esophageal stricture)ได้ นอกจากนี้ยังอาจพบโรคแทรกซ้อนของปอด เช่น โรคหอบหืดเป็นมากขึ้น (asthma
exacerbation) ไอเรื้อรัง ปอดอักเสบ เป็นต้น
อาการและอาการแสดงของภาวะกรดไหลย้อน
- อาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก (Heartburn,
Pyrosis) เป็นอาการแรกที่พบในผู้ป่วยที่มีปัญหากรดไหลย้อน ผู้ป่วยจะมีอาการแสบร้อนบริเวณ
substernal หรือ retrosternal และอาจกระจายไปที่หลังและขากรรไกร
อาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกเป็นอาการแสดงที่พบมากที่สุด ผู้ป่วยอาจมีอาการอยู่นานตั้งแต่
20 นาทีถึง 2 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร
อาการนี้จะสัมพันธ์กับมื้ออาหารโดยเฉพาะมื้ออาหารที่รับประทานมากๆ ท่าของผู้ป่วย
การนอน หรือการออกกำลังกาย
- การไหลย้อนของน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร (Regurgitation)
โดยไม่สัมพันธ์กับอาการคลื่นไส้ หรือเรอ จะรู้สึกรสเปรี้ยวของกรดและรสขมของน้ำดีบริเวณ pharynx
- ต่อมน้ำลายจะขับน้ำลายออกมาในปากมาก
แสบร้อนท้องและเรอเปรี้ยว (Water brash)
- เรอบ่อยหรือมีแก๊สในกระเพาะอาหารมากเกินไป
(Frequent
belching หรือ flatulence)
- กลืนลำบาก
(Dysphagia) หรือ ปวดเวลากลืน
(Odynophagia) เหมือนมีอะไรมาจุกที่คอเนื่องจากมีการอักเสบของหลอดอาหารหรือหลอดอาหารมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ
- ไอเวลากลางคืน
(Nocturnal
cough) ไอแห้ง ๆ (dry cough)
- หายใจมีเสียงฮืด
ๆ (Wheezing) มีbronchospasms,asthma exacerbation
-
เสียงแหบทั้ง (Hoarseness
) อาการเสียงแหบสามารถเกิดได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน
-
เจ็บหรือแสบคอ (Soreหรือ raw throat) โดยเฉพาะตื่นนอนในตอนเช้า
-
ไอเรื้อรัง (Chronic cough)
กระแอมไอบ่อยๆ
-
เจ็บหน้าอก (Chest
pain)
การประเมินผู้ป่วยที่มีภาวะกรดไหลย้อน
1.
การซักประวัติ ประกอบด้วย
1.1 ประวัติสุขภาพ
ผู้ป่วยมักให้ประวัติว่ามีอาการปวดแบบแสบร้อน (Heartburn) บริเวณทรวงอกและกระเพาะอาหารบ่อย ๆ นอนราบอาการเป็นมากขึ้น
หรืออาการจะยิ่งแย่ลงหลังรับประทานอาหาร อาการปวดอาจเป็นอยู่นานถึง 2 ชั่วโมง นอกจากนี้จะมีอาการเรอเปรี้ยว
(Regurgitation) บ่อย ๆ อาการแสดงอื่นๆที่อาจพบในผู้ป่วย
ได้แก่ เสียงแหบ กลืนลำบาก รู้สึกเหมือนมีอาหารจุกบริเวณคอ รู้สึก Burping
acid อยู่ในปาก ไอเรื้อรังหรือสำลัก
นอกจากนี้ควรซักประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ยาที่ผู้ป่วยใช้เป็นประจำ ประวัติโรคภูมิแพ้
สำหรับผู้สูงอายุอาการที่พบได้แก่เจ็บบริเวณยอดอก
(Epigastric pain),น้ำหนักลด(Weight loss) , กลืนลำบาก (Dysphagia)
, อาเจียน (Vomiting) ,ปัญหาระบบทางเดินหายใจ (Respiratory
Problems),ไอเรื้อรัง (Chronic cough) ,
เสียงแหบ (Hoarseness และWeeping) (Thjodleifsson&Jonsson,2001cited
in Levy,Stamm&Meiner,2001)
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด
จะมีอาการของ Nocturnal cough และอาการหอบหืดแย่ลง (Asthma
exacerbation ) เนื่องจากหลอดอาหารได้รับการระคายเคืองจากน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร
ผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะกรดไหลย้อน
จะมีประวัติอาเจียนบ่อยๆ อาเจียนมากเวลาร้องไห้ น้ำหนักลด มีการอักเสบของหลอดอาหาร
ส่วนอาการเตือนที่เป็นสัญญาณของการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากภาวะกรดไหลย้อน
ได้แก่ อาการกลืนลำบาก เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร และน้ำหนักลด
หายใจสั้นร่วมกับการมีเสียงแหบ เจ็บหน้าอก
1.2 แบบแผนการดำเนินชีวิต
1.2.1 พฤติกรรมการบริโภค
โดยเฉพาะเวลาของการรับประทานอาหารเย็น ผู้ป่วยมักรับประทานตอนดึก
แล้วเข้านอนเลย
พฤติกรรมที่ชอบรับประทานขนมขบเคี้ยวตลอดทั้งวันและ ไม่ชอบรับประทานผลไม้สด
1.2.2 พฤติกรรมทางสังคม
ชอบออกงานสังคม มีงานเลี้ยงสังสรรค์บ่อย ๆ ไม่ค่อยมีเวลาในการออกกำลังกาย สูบบุหรี่
ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เป็นประจำ
1.2.3 แบบแผนการนอน
บางคืนจะสะดุ้งตื่นด้วยอาการเจ็บแสบคอ
มีรสเปรี้ยวในปากต้องใช้หมอนหนุนให้ศีรษะสูงขึ้นและ ดื่มน้ำตาม อาการจึงทุเลาลง และสามารถนอนหลับได้
2. การตรวจร่างกาย
สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกรดไหลย้อนประกอบด้วย การชั่งน้ำหนัก
และการฟังปอดเพื่อประเมินอาการของ Reflux aspiration
3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ถ้ามีอาการไม่รุนแรงก็วินิจฉัยตามอาการและรักษาตามอาการ
แต่ถ้ามีอาการรุนแรงและเกิดอาการแสบร้อนทรวงอกบ่อย ๆ ต้องใช้เครื่องมือในการคัดกรองดังนี้
3.1
24-hour
pH monitoring เป็นการตรวจวินิจฉัยที่เฉพาะสำหรับบุคคลที่มีความผิดปกติของ
Acid reflux โดยติด Holter monitor ค่าปกติของ pH บริเวณ Esophagus จะมากกว่า 6.0 มักทำในรายที่ผล Esophageal endoscope ไม่ชัดเจนและในรายที่ต้องพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัด
3.2
Esophageal motility และ Bernstein tests เป็นการประเมินสมรรถนะของหูรูดหลอดอาหารส่วนปลาย
ปริมาณของน้ำย่อยในการ reflux แต่ละครั้ง (Quantify reflux episodes) และการตอบสนองของ Esophagus ต่อ Acid infusion การตรวจดังกล่าวผู้ป่วยต้องได้รับการเตรียมตัวดังนี้
3.2.1 งดน้ำ และอาหารเป็นเวลา 8 ชั่วโมง ก่อนตรวจ
3.2.2 หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
และสูบบุหรี่ก่อนตรวจ 1 วัน
3.3.3 วันที่ตรวจงดยาในกลุ่ม Antacids, H2-recepter
antagonists, Proton pump inhibitors และ Anticholinergics
3.3.4 ดูแลให้ได้รับ Sedative ตามแผนการรักษา
ในผู้ป่วยที่ไวต่อการขย้อน
3.3.5 อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงวิธีการตรวจ และอาจรู้สึกเจ็บคอเล็กน้อยหลังการตรวจ
3.3 Barium swallow
radiography เป็นการตรวจที่บอกความผิดปกติของหลอดอาหารหรือมีของเหลวไหลย้อนมาที่หลอดอาหารหรือหลอดอาหารมีการระคายเคือง
โดยการกลืนแป้งผ่านไปที่หลอดอาหารแล้ว x-rays ดูความผิดปกติ
เป็นการตรวจวินิจฉัยที่ควรทำเป็นอันดับแรก
ประหยัดค่าใช้จ่ายและสามารถคัดกรองโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.4 Esophageal endoscopy
เป็นการตรวจวินิจฉัยที่ได้ผลแน่นอนที่สุดในการวินิจฉัยภาวะกรดไหลย้อน
การตรวจวิธีนี้สามารถบอกถึงความผิดปกติของหลอดอาหาร
กระเพาะอาหารและส่วนต้นของลำไส้เล็ก นอกจากนี้ยังสามารถทำ biopsy เนื้อเยื่อได้ด้วย
การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะกรดไหลย้อน
เป้าหมายของการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะกรดไหลย้อน คือ
1.
เพื่อลดอาการแสดงที่มีผลจากกรดในกระเพาะอาหาร
2. ส่งเสริมการหายของอาการหลอดอาหารอักเสบ
3. ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนโดยเฉพาะการตีบแคบของหลอดอาหารและ Barrett’s esophagus
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่อาการเริ่มแรกจะไม่รุนแรง
จึงควรเริ่มโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตควบคู่กับการรับประทานยาลดกรด
ต่อเมื่ออาการไม่ดีขึ้นจึงพิจารณาใช้วิธีการผ่าตัด
แนวทางการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาภาวะกรดไหลย้อน
ควรประกอบด้วย
1.ปรับเปลี่ยนแบบแผนการรับประทานอาหารควรแนะนำผู้ป่วยเกี่ยวกับ
1.1
รับประทานอาหารมื้อละน้อยวันละประมาณ 4-6
มื้อ
1.2
รับประทานอาหารประเภทไขมันต่ำ
และรับประทานโปรตีนให้เพียงพอ
1.3 ลดการดื่มชา กาแฟ
หรือรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน
1.4
งดการดื่มแอลกอฮอล์
1.5
รับประทานอาหารช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด และงดรับประทานอาหารก่อนนอน 2-3
ชั่วโมง
1.6 หลีกเลี่ยงการรับประทานของคบเคี้ยวก่อนนอนและไม่ควรรับประทานอาหารก่อนเข้านอนอย่างน้อย3 ชั่วโมง เชื่อว่าของคบเคี้ยวจะยิ่งทำให้อาการแสดงของ GERDแย่ลง
1.7 หลังรับประทานอาหาร 1-2 ชั่วโมง
ควรอยู่ในท่านั่ง ห้ามนอน
1.8 หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิด
Heartburn
1.9 ควบคุมน้ำหนัก
จะช่วยลดแรงดันในช่องท้องเพราะคนอ้วนจะมีความดันในช่องท้องสูงทำให้กรดไหลย้อนได้มาก
2. ปรับเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินชีวิต
2.1 งดการสูบบุหรี่
เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้เกิดกรดมาก
2.2
หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่รัดบริเวณหน้าท้อง
2.3
หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรืออยู่ในท่าโค้งตัวนาน ๆ
2.4
ไม่ควรนอนราบให้นอนยกศีรษะสูง โดยยกหัวเตียงให้สูงขึ้นจากพื้น ประมาณ 6-8 นิ้ว (15 -20 เซนติเมตร)
2.5 ออกกำลังกายสม่ำเสมอและพยายามหลีกเลี่ยงความเครียด
3.การรักษาทางยา
กลุ่มยาที่ใช้ในการรักษาภาวะกรดไหลย้อนได้แก่
3.1 Neutralize gastric acids ยาที่ปรับสภาพกรดในกระเพาะอาหารให้เป็นกลาง เช่น Antacids ได้แก่ Aluminum หรือ Magnesium-based product ผลข้างเคียงของยาที่มีส่วนผสมของ
Aluminum หรือ Calcium carbonate antacids ทำให้ท้องผูก
ถ้ามีส่วนผสมของ Magnesium ทำให้ท้องเสีย
Antacid plus alginic acid ได้แก่ Gaviscon ยาในกลุ่มนี้จะช่วยป้องกัน
Reflux หรือ Buffers effects มีทั้งยาเม็ดและยาน้ำ
ถ้าเป็นยาเม็ดต้องเคี้ยวก่อนกลืน ให้ 1tab ก่อนอาหารและก่อนนอน
3.2 Reduce
gastric acid secretion ให้ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร
นอกจากนี้ยาในกลุ่มนี้ยังช่วยส่งเสริมการหายของหลอดอาหารอักเสบ และควรรับประทานยาพร้อมอาหาร
สำหรับผลข้างเคียงของยาที่พบได้แก่ อ่อนเพลีย , ปวดศีรษะ และท้องเสีย เช่น Histamine (H2) receptor
antagonists ได้แก่
3.2.1 Cimetidine (Tagamet) 400mgวันละ
2 ครั้งหรือ 800mg ก่อนนอน สำหรับการใช้ Cimetidine ยาตัวนี้ควรระวังในเรื่องของ B12
deficiency ถ้าใช้มากกว่าวันละ 1 ครั้ง ดั้งนั้นถ้าจะใช้แนะนำให้ใช้วันละ
1 ครั้งก่อนนอน เพราะยาไปลดการดูดซึม B12
3.2.2 Ranitidine (Zantac) ให้ 300mg ต่อวัน
3.2.3 Famotidine (Pepcid) ให้ 20mg วันละ 2 ครั้ง
3.2.4 Nizatadine (Axid) ให้ 150-300 mg
วันละ 2 ครั้ง เป็นต้น
3.3 Inhibit
enzyme system ยาในกลุ่มนี้ช่วยยับยั้งการสร้างกรดจาก Gastic
parietal cells และกดการหลั่งกรด
Gastric ได้มากกว่า 90 % และช่วยให้การอักเสบของหลอดอาหารหายเร็วขึ้น
ควรรับประทานยานี้ก่อนอาหารมื้อเช้า 20-30 นาทีเนื่องจากยาจะออกฤทธิ์ได้ดีในสภาพแวดล้อมที่เป็นกรด
สำหรับผลข้างเคียงของยาได้แก่ ปวดท้องเป็นตะคริว (abdominal cramping), ปวดศีรษะ และท้องเสีย เช่น Proton pump inhibitors (PPI) ได้แก่
3.3.1 Omeprazole(Prilosec,Losec) 20mg วันละครั้ง
3.3.2 Lansoprazole (Prevacid) 30mg
วันละครั้ง
3.3.3 Rabeprazole sodium (Aciphex) 10mg วันละครั้ง
3.3.4 Esomeprazole magnesium (Nexium) 40mg วันละครั้งหรือวันละ 20mg ในรายที่ต้องใช้ยาระยะยาว
3.3.5 Pantoprazole sodium (Protonix) 40mg ต่อวัน เป็นต้น
ยาในกลุ่ม PPI
เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะกรดไหลย้อนได้ดีที่สุด
ดังนั้นถ้าอาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้นหลังการใช้ยา (refractory GERD) 4-8 สัปดาห์ ควรต้องมีการวินิจฉัยโรคใหม่
3.4 Strengthen the sphicter ยาในกลุ่ม
Prokinetics ช่วยในการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหาร ได้แก่
Bethanechol (Urecholine), Metroclopramide (Reglan)
ในการรักษานิยมให้ยามากกว่า 1 ชนิด เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการของ
Heartburn หลังรับประทานอาหารควรให้ทั้ง Antacids และ H2blockers ยา Antacids จะออกฤทธิ์ให้กรดในกระเพาะอาหารเป็นกลางเมื่อ Antacids หยุดทำงาน H2blockers ก็ออกฤทธิ์ลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารพอดี
4. การผ่าตัดในกรณีที่ใช้ยาและปรับพฤติกรรมสุขภาพ
เรื่องการรับประทานอาหาร และการดำเนินชีวิตแล้วไม่ได้ผล การผ่าตัดเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ใช้แก้ไขภาวะกรดไหลย้อน
โดยการทำ Fundoplication คือการผ่าตัดเอาส่วนต้นของกระเพาะอาหารหุ้มหูรูดหลอดอาหารส่วนปลายไว้
เพื่อเป็นการรัดบริเวณหูรูดป้องกันน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อน
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเด็กใช้แนวทางการดูแลเช่นเดียวกันเพียงแต่ปรับเปลี่ยนปริมาณและขนาดยาให้เหมาะกับเด็ก
รวมถึงพฤติกรรมสุขภาพด้วย
สรุป
การมีชีวิตอยู่กับภาวะกรดไหลย้อน สิ่งสำคัญคือ
การปรับเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินชีวิต ต้องใส่ใจในอาการและอาการแสดงที่เกิดขึ้น
การได้รับการดูแลอย่างถูกต้องตั้งแต่แรกจะสามารถลดอาการไม่สุขสบาย ไม่ต้องใช้การรักษาที่ยุ่งยาก
และป้องกันการทำลายเนื้อเยื่อของหลอดอาหารอย่างถาวรได้
การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการและอาการแสดงของภาวะกรดไหลย้อนเป็นพฤติกรรมที่ควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
แม้ว่าบางครั้งจะกระทำได้ยาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ชอบ เมื่อบุคคลสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยส่งเสริมได้ก็จะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
เอกสารอ้างอิง
Kaynard, A & Flora, K.
(2001) Postgraduate Medicine. Minneapolis : Sep 20.
vol.110, Iss. 3; pg. 42. [Copyright c 2006
Proquest Information and
Learning Company / 27 Dec. 2006.]
Levy, R.A., Stamm. L. &
Meiner, S.E. (2002). Conservative management of GERD :
A Case study, Medsury Nursing. Pitman : Aug. vol, 11,
Iss.4; pg. 169, 8
pgs [Copyright c
2006 Proquest Information and
Learning Company /
27 Dec 2006. ]
Phipps,W.J.,Monahan,F.D.,Sands,J.K.,Marek,J.F.&Neighbors,M.(2003).
Medical-Surgical Nursing : Health and Illness Perspectives, 7th
ed. Missouri : Mosby. Inc. P
1006-1011.
http://www.bangkokhealth.com/consult_htdoc/Question.asp?GID=15107[21/2/2007]
http://www. Kidshealth. Org
/ teen / diseases_conditions / digestive / gerd. htmL – 20 k [ 27
/12/ 2006.]
hhtp://www.lpch.org/diseasehealthinfo/healthlibrary/digest/gerd.html.
[26/2/2007]
……………………………………………